นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ได้คาดการณ์เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยปีนี้คงไว้ที่ 1.8% เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนจากโควิด-19 สูง และไม่สามารถประเมินทิศทางได้ว่าจะคลี่คลายเมื่อไร ล็อกดาวน์นานแค่ไหน และยังได้คาดจีดีพีปี 65 ขยายตัว 3.1% แม้จะเป็นตัวเลขต่ำกว่าที่รายอื่นคาดไว้ที่ 3.5% เพราะเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาค่อยๆ ฟื้น ความเชื่อมั่นจะค่อยๆกลับมา ทำให้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี ไว้อีกถึง 3 ปี เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวในระยะต่อไป

นอกจากนี้เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมกันวันที่ 4 ส.ค.นี้ จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ แต่อาจมีกรรมการ 1 ท่านที่เลือกให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือต้นทุนทางการเงินของประชาชนและธุรกิจ ซึ่งหากมีเสียงแตกจริง ก็คาดว่าตลาดจะไม่ประหลาดใจ หรือตกใจมาก เพราะที่ผ่านมา ธปท.ได้สื่อสารออกมาให้เห็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจ และ ธปท.ส่งสัญญาณมาโดยตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการคงดอกเบี้ยไว้ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับดอกเบี้ยตลาดโลกขาขึ้นด้วย

สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ คือ การควบคุมโควิด และการฉีดวัคซีนให้เร็วกว่านี้ ซึ่งให้ความสำคัญมากกว่านโยบายการคลัง เพราะการขยายเพดานหนี้สาธารณะมากกว่า 60% จากปัจจุบัน 55% ต่อจีดีพี เพื่อให้มีพื้นที่ทำนโยบายการคลัง แต่มองว่าจะไม่มีประสิทธิภาพ ถ้ายังมีโควิดอยู่ หรือฉีดวัคซีนได้น้อย และนโยบายการคลังต้องไม่ใช่แค่เยียวยาอย่างเดียว แต่ต้องมีมาตรการกระตุ้นบริโภคพร้อมกับฟื้นฟูธุรกิจไปด้วย แต่จะเกิดขึ้นได้ยากถ้าโควิดยังอยู่

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มที่ดี หลังจากเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ พบนักท่องเที่ยวเข้ามาเกือบ 1 หมื่นคน แต่พบเชื้อโควิดเพียง 20 คนเท่านั้น เชื่อว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เดินหน้าเปิดประเทศมากขึ้น และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ จะต้องค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับมา รวมทั้งการส่งออกไทยแข็งแรงมากขึ้น จากเดือน มิ.ย. เติบโต 44% เทียบปีก่อน หลังจากหลายประเทศมีเศรษฐกิจดีขึ้น คาดปีนี้ส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของประเทศ จากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น สนับสนุนการส่งออกของไทย

ส่วนความเสี่ยงยังคงอยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชนที่ยังต่ำอยู่ในปัจจุบัน และเงินบาท 32.95 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนที่สุดในเอเชีย และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าสิ้นปีจะอยู่ที่เท่าไรแต่เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติติดตามมาก เพราะเงินบาทอ่อนค่ามาจากโควิดระบาดที่ยังท้าทาย ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการค้าที่ลดลง และการท่องเที่ยวใช้เวลาฟื้นฟู