วันที่ 11 มี.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพานิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา ทั้งติดตามระดับราคาอาหารสัตว์ และราคาปุ๋ยให้ขึ้น-ลง สอดคล้องกับสัดส่วนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ให้มีการกักตุน หรือฉวยโอกาสขึ้นราคาโดยเด็ดขาด รวมทั้งให้เร่งกระจายการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์จากแหล่งนำเข้าอื่น ๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังสั่งการให้ใช้มาตรการอื่นอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหา ลดอุปสรรคการผลิต การนำเข้า เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการและเกษตกรด้วย

“นายกฯ เป็นห่วงผลกระทบจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อระบบการค้าโลกแล้ว โดยราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์และสินแร่ที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ยิ่งทำให้การค้าโลกมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยและวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวสาลี และข้าวโพด จะมีราคาเพิ่มขึ้นอีก เพราะรัสเซียและยูเครน เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ขณะที่ ไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์และปุ๋ยจากต่างประเทศเป็นหลัก ประกอบกับราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปุ๋ยในประเทศมีราคาแพงตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 ถึงปี 65”

ทั้งนี้ในปี 64 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจาก 45 ประเทศ ปริมาณ 5,520,883 ตัน คิดเป็นมูลค่า 70,103 ล้านบาท โดย 5 ประเทศที่ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีมากที่สุด ได้แก่ จีน นำเข้า 1.25 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 16,997 ล้านบาท สัดส่วน 22.75% รองลงมาคือ ซาอุดีอาระเบีย นำเข้า 8.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 10,707 ล้านบาท สัดส่วน 15.3% อันดับสาม คือ รัสเซีย นำเข้า 4.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 5,604 ล้านบาท สัดส่วน 8.06%

อันดับสี่ โอมาน นำเข้า 3.6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 4,381 ล้านบาท สัดส่วน 6.64% และอันดับห้า คือ เกาหลีใต้ นำเข้า 3.3 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 3,417 สัดส่วน 6.14% โดยปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์ เป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หากจะปรับราคา กระทรวงพาณิชย์ต้องพิจารณาคำร้องของผู้ประกอบการก่อน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ยังไม่มีใครทำเรื่องขอปรับราคาอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันว่าต้นทุนของข้าวสาลีและปุ๋ยยูเรียสูงขึ้นจริง ซึ่งต้องดูแลให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ต้องไม่เดือดร้อนจากราคาที่แพงเกินไป ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงราคา ก็ให้ปรับตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ให้มีการฉวยโอกาสค้ากำไรเกินควร และไม่ได้ให้สินค้าทุกตัวปรับขึ้นเท่ากันหมด

ขณะที่ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์ เป็นสินค้าควบคุม หากผู้ประกอบการจะปรับราคา ต้องทำเรื่องมาที่กระทรวงพาณิชย์ก่อน ถ้ายังไม่อนุญาตก็ไม่ขึ้นราคาได้ ซึ่งตอนนี้ ยังไม่มีใครทำเรื่องขอปรับเข้าทางการ เพียงแค่พูดคุยกันเท่านั้น ขอย้ำว่า ต้นทุนทางบัญชีเป็นเรื่องที่หลอกกันไม่ได้ ถ้าพบว่า ใครให้ข้อมูลเท็จ จะมีความผิดแน่นอน ส่วนสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปนั้น ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาขายสินค้า 18 หมวดอย่างต่อเนื่อง