นับตั้งแต่ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้ามารับตำแหน่ง รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยใช้ “ปัญญา” หรือองค์ความรู้ชี้นำ กว่า 18 เดือน ที่ไฟแห่งการปฏิรูปลุกโชนขึ้น พร้อมกับผลงานการปฏิรูปด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้


เริ่มต้นด้วย 1. การจัดสรรงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ให้กับ “กองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม” ที่จัดตั้งโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผ่านกลไกกองทุนร่วมลงทุน หรือ Matching Fund ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมสนับสนุน SMEs ของไทยให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เอง สร้างโอกาสในการแข่งขันให้ธุรกิจภาคอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่า อว. พร้อมเป็นพันธมิตรและให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเต็มที่ 2. การจัดตั้ง “กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา” ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย กองทุนฯ นี้ จะเป็นแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยคิดและทำหรือได้ทดลองหลักสูตรใหม่ๆ ที่เน้นเรื่องการปฏิบัติตามความต้องการของตลาด ตอบโจทย์ประเทศได้มากขึ้น


3. การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ที่แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น กลุ่มที่ 4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา และกลุ่มที่ 5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ เพื่อให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้เลือกเองว่าจะอยู่ในกลุ่มใด เพื่อที่จะดำเนินงานขับเคลื่อนให้ตรงกับทิศทางการพัฒนาของแต่ละแห่ง และให้ตรงกับจุดเด่นของมหาวิทยาลัย
4. ปรับหลักเกณฑ์และเพิ่ม 5 ช่องทางการขอตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งจะเป็นการเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการที่ไม่จำเป็นต้องใช้แต่ตำราและงานวิจัยในรูปแบบเดิมเป็นหลัก โดยเพิ่มรูปแบบการขอตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้านอีก 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านรับใช้ท้องถิ่นและสังคม 2.ด้านสร้างสรรค์สุนทรียะ ศิลปะ 3.ด้านการสอน 4.ด้านนวัตกรรม และ 5.ด้านศาสนา ทำให้การขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีช่องทางเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเป็นนวัตกรรมอุดมศึกษาอย่างแท้จริง
5. ยกเลิกเกณฑ์กลางระยะเวลาเรียน ไม่มีกำหนดเวลาจบ โดยยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ปริญญาตรี ซึ่งเดิมหากเรียนไม่จบภายในกำหนด คือ 8 ปี จะถูกรีไทร์หรือถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับระดับปริญญาโทที่ให้กำหนดระยะเวลาเรียนไม่เกิน 5 ปี และปริญญาเอกที่ให้กำหนดระยะเวลาเรียนไม่เกิน 6 ปี โดยให้สามารถเรียนต่อได้เลย หากไม่จบการศึกษาในระยะเวลาที่กำหนด


6. เปิดลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันครั้งแรกของไทย ทลายพรมแดนแห่งการเรียนรู้ เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของระบบการอุดมศึกษาของไทย เมื่อ อว. และอธิการบดี 25 สถาบันอุดมศึกษา เห็นชอบเปิดลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบันและสามารถใช้หน่วยกิตของรายวิชาดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตในหลักสูตรที่นักศึกษากำลังศึกษาได้ รวมทั้งสามารถนำไปอยู่ในระบบคลังหน่วยกิตสะสมได้ตามข้อกำหนดของแต่ละสถาบัน ถือเป็นการพัฒนากลไกใหม่ เพื่อปลดล็อกปัญหาและอุปสรรคของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักศึกษาที่ควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุด 7. ร่วมผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้มีระบบให้ทุนการศึกษาแทนการกู้ยืมเงินในสาขาวิชาขาดแคลน โดย อว. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (พรบ.กยศ.) โดยให้มีระบบให้ทุนการศึกษาแทนการกู้ยืมเงินในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาที่มุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ โดยจะกำหนดให้ผู้ได้รับทุนต้องปฏิบัติงานในหน่วยงานตามเวลาที่กำหนดด้วยหรือไม่ก็ได้ และยังได้ร่วมกำหนดสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งหากนักศึกษาเลือกเรียนในสาขาดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาให้กู้ยืมและอาจได้รับสิทธิให้ไม่ต้องจ่ายดอก หรือจ่ายคืนเงินต้นช้าได้


8. เปิดหลักสูตรแซนด์บอกซ์ หรือการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) เป็นหลักสูตรทดลองที่สามารถปรับให้ต่างจากการปฏิบัติตามมาตรฐานเดิม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนากำลังขั้นสูงของประเทศ 9. การจัดตั้งวิทยสถาน ได้แก่ วิทยาสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ “ธัชชา” และที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกแห่ง คือ วิทยสถานด้านวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ “ธัชวิทย์” ที่จะเป็นสถานที่รวบรวมคนเก่งของ อว. มาทำหน้าที่เป็นคลังสมองให้กับรัฐบาล 10. ออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้สิทธิเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของผู้รับทุนเองได้ และผู้รับทุนวิจัยสามารถถ่ายทอดผลงานวิจัยไปสู่ภาคเอกชนที่จะเป็นผู้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นไปใช้ประโยชน์ผลิตเป็นสินค้าและบริการออกสู่ตลาดหรือใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้


“วันนี้กระแสการปฏิรูปของ อว.ได้เดินหน้าแล้วและจะหยุดไม่ได้ สิ่งไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองต่อประชาชนไทย ในฐานะ รมว.อว. ของรัฐบาลพร้อมทำทันที ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก ระบุ