รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า วันนี้ 11 มี.ค. กระทรวงพลังงาน นำโดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ร่วมกับผู้บริหาร และรัฐวิสาหกิจในกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน, นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.), น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.), นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
นอกจากนี้ยังมีนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกับกิจการพลังงาน (กกพ.), นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมแถลงถึงสถานการณ์ราคาพลังงาน และมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลราคาพลังงานทั้งระบบ หลังจากเกิดวิกฤติสงครามรัสเซีย–ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ เบื้องต้นกระทรวงพลังงานจะชี้แจงแนวทางการดูแลราคาน้ำมันดีเซล กระทรวงพลังงานตั้งสมมุติฐานราคาไว้ 3 ระดับ คือ ระดับ 100-130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล, ระดับ 131-150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และระดับมากกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมาตรการที่ออกมาจะเน้นการดูแลราคาในระดับที่เหมาะสม เช่น หากราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นเกินกว่า 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยืนราคาในระดับหนึ่ง อาจต้องขยับกรอบราคาดีเซลเพิ่มขึ้นกว่า 30 บาทต่อลิตร แต่จะนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแลส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้ปรับสูงขึ้นมาก
ขณะที่ส่วนอื่น เช่น มาตรการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน (แอลพีจี) หลังสิ้นมาตรการตรึงราคา 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) วันที่ 31 มี.ค. ที่มีแนวโน้มต้องขยับขึ้นแบบขั้นบันได กิโลละ 1 บาท ช่วงแรก (เม.ย.-มิ.ย.) จะขยับจาก 318 บาทต่อถัง 15 กก. เป็น 333 บาทต่อถัง 15 กก. เพราะปัจจุบันราคาแอลพีจีขยับไปถึง 435 บาทต่อถัง 15 กก.