นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมเตรียมความพร้อมพิธีเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ผ่านระบบ Zoom ว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 65 ซึ่งมีความพร้อมเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ตามมาตรฐาน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ท่าอากาศยานเบตง พร้อมเดินทางไปกับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ดังกล่าว ในวันที่ 14 มี.ค. 65

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินงานในด้านการส่งเสริมการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ โดยก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตง ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง ให้สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมเศรษฐกิจ และกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ได้มอบให้ ทย. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเส้นทางการบินสู่ท่าอากาศยานเบตงเพิ่มเติม เช่น สุวรรณภูมิ-เบตง รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ของแผนพัฒนาท่าอากาศยานเบตง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ในระยะต่อไปในอนาคต โดยให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นด้านความมั่นคง ความคุ้มค่า และผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับ ทั้งนี้ ท่าอากาศยานเบตง เป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 29 ของ ทย. ตั้งอยู่ใน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา บนพื้นที่ 920 ไร่ ประกอบด้วย ทางขับ 2 ทางวิ่ง กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร ลานจอดเครื่องบินรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง 3 ลำ

อาคารที่พักผู้โดยสารมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 8 แสนคนต่อปี และลานจอดรถยนต์ 140 คัน จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แรก โดยสายการบินนกแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง-กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มี.ค. 65 และให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์) โดยดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามประกาศของ กพท. และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งนอกจากเส้นทางให้บริการภายในประเทศแล้ว ท่าอากาศยานเบตงยังมีความพร้อมที่จะมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Regional Hub) เส้นทางระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ในอนาคตด้วย.