กระแสดังกระแสหนึ่งที่ “ร้อนแรง” ต่อเนื่องคือกระแสเกี่ยวกับการ “เสียชีวิตอย่างมีปริศนา” ของคนดังคนหนึ่ง ที่นอกจากประเด็นการเสียชีวิตจะได้รับความสนใจจากสังคมไทยอย่างมากแล้ว ยังเกิด “แรงสะเทือน” ต่อเนื่องในหลาย ๆ มิติตามมาด้วย มีทั้งมิติ “ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน” รวมถึง “ความสัมพันธ์ในครอบครัว” ซึ่งมิติต่าง ๆ ประเด็นต่าง ๆ นั้นถูกจับยึดโยงจนเกิดกรณี “ดราม่า” มากมาย รวมถึงกรณี “ความไว้วางใจ” ที่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีบางแง่มุมมาสะท้อน…

วันนี้มาดู “ความไว้วางใจ” ใน “มุมมานุษยวิทยา”

เรื่องนี้ได้มีนักวิชาการทำการศึกษาค้นคว้าจริงจัง

เพราะมองเป็น “ปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญ”

ทั้งนี้ “มุมมานุษยวิทยา” ที่เกี่ยวกับ “ความไว้วางใจ” นั้น ข้อมูลเรื่องนี้ทาง สัมพันธ์ วารี นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้สะท้อนไว้ในบทความชื่อ “มานุษยวิทยาของความไว้วางใจ (Anthropology and Theories of Trust)” ที่มีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยได้อธิบายไว้ว่า… ความไว้วางใจ (Trust) เป็นคำหรือแนวคิดที่ถูกศึกษาวิจัยในวงกว้างโดยหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นสังคมวิทยา จิตวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การบริหาร ปรัชญา และรวมถึงมานุษยวิทยา โดยเฉพาะเมื่อเกิด เหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือสร้างความรู้สึกไม่แน่นอนในชีวิต

“มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งมองว่า… สังคมที่มีความไว้วางใจต่อกันจะเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ มากกว่าสังคมที่ไม่มีความไว้วางใจ ซึ่งความไว้วางใจเป็นตัวบรรเทาความขัดแย้งทางสังคมได้อย่างดี โดยเฉพาะกรณีที่เกิดความขัดแย้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นความไว้วางใจจึงเป็นองค์ประกอบของทุนทางสังคมที่สำคัญ”

นี่เป็น “ความสำคัญ” ของ “ความไว้วางใจ” ที่ถูกระบุไว้

ที่เป็นได้ทั้ง “ทุนทางสังคม” และ “เครื่องมือไกล่เกลี่ย”

อนึ่ง นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้หยิบยกแนวคิดและทฤษฎีของนักวิชาการต่างประเทศที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับ “องค์ประกอบ” ที่ “ทำให้เกิดความไว้วางใจ” โดยระบุไว้ว่า… มักจะมีอยู่ 4 ลักษณะ ได้แก่… 1.มีความปรารถนาดี (benevolence) หมายถึง เอาใจใส่  และจูงใจให้กระทำเพื่อผลประโยชน์มากกว่าจะเป็นการฉวยโอกาส 2.มีความซื่อสัตย์ (integrity) หมายถึงการ พูดความจริง และการปฏิบัติตามคำสัญญา 3.มีสมรรถนะ (competence) หมายถึงมีความสามารถที่จะกระทำเพื่อสิ่งที่ตนต้องการ 4.คาดการณ์ได้ (predictability) หมายถึงการกระทำของอีกฝ่ายที่มีความสม่ำเสมอเพียงพอ

เหล่านี้เป็น “องค์ประกอบนำไปสู่ความไว้วางใจ”…

ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากประสบการณ์ในชีวิต

ในบทความยังได้ระบุถึง “ความเชื่อ” ที่ “ยึดโยงกับความไว้วางใจ” ไว้ว่า… หมายถึงขอบเขตที่คน ๆ หนึ่งเชื่อมั่นว่าคนนั้น ๆ จะมีลักษณะที่เป็นประโยชน์ จึงทำให้ตัดสินใจมอบความไว้วางใจให้แก่คนนั้น หรือหมายถึงการที่บุคคลหนึ่งเต็มใจพึ่งพาอีกฝ่ายหนึ่ง แม้ไม่ได้ถูกควบคุม และแม้จะ เกิดผลลัพธ์ด้านลบ ตามมาก็ตาม ซึ่งพฤติกรรมของความไว้วางใจสามารถแบ่งออกได้หลายระดับ และมัก เกิดขึ้นภายใต้ความเสี่ยง และจากความสามารถในการควบคุมของผู้ที่จัดการผลประโยชน์

เป็นอีกมุม“ความไว้วางใจ” ที่ “ความเชื่อก็มีส่วน”

ที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งเกิดความ “ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ”

ทั้งนี้ นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยังได้ระบุถึง ‘ความไว้วางใจ’ ไว้อีกว่า… ถือว่า “เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญ” ซึ่งถูกประกอบขึ้นมาได้จากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมถึงเกิดได้จากสถานที่ทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โดยที่ความไว้วางใจนั้นเมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งก็อาจพังทลายลงไปได้ และในทางกลับกัน ก็อาจจะสามารถสร้างความไว้วางใจขึ้นใหม่ได้เช่นกัน …เป็น “มุมวิชาการ” ที่นักวิชาการสะท้อนไว้…

ที่ระบุว่า “ความไว้วางใจ” นั้น “สร้างขึ้นใหม่ได้”

แต่ก็สามารถจะ ‘พังทลายลงไปได้’ เช่นเดียวกัน!!

อีกทั้งยังมีการชี้ไว้ให้เห็นถึง “ความสำคัญ” ของ “ความไว้วางใจ” ที่ “ผูกโยงอยู่กับผู้คนในสังคม” ว่า… ความไว้วางใจเป็นเหมือนกาวที่ยึดเครือข่ายในสังคมเอาไว้ อาทิ ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน รวมไปถึง ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ที่ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจหรือความเชื่อมั่นที่มีต่อกันและกัน  ซึ่งบางครั้งการไว้วางใจก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อพิสูจน์ ถ้าหากสามารถทำให้คน ๆ หนึ่งเกิดประสบการณ์เชิงบวกกับคน ๆ นั้นขึ้นมาได้

“ยิ่งเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงหรือไม่แน่นอน ความไว้วางใจก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยคลี่คลายวิกฤติหรือช่วยบรรเทาความขัดแย้งได้ หรือ อาจจะยิ่งทำให้วิกฤติปัญหาหนักขึ้น รวมถึงยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลงไปมากกว่าเดิมได้อีก ถ้าหากเกิดความไม่ไว้วางใจแล้ว” …เป็น “มุมน่าคิด” ที่สะท้อนไว้ในบทความทางวิชาการ

ในทางวิชาการก็มุมหนึ่ง-ในโลกยุคปัจจุบันก็อีกมุม

โลกในยุคนี้ ไว้วางใจ” นั้นนับวันยิ่ง อาจจะเสี่ยง”

“พิษไว้วางใจคนผิด” บางที อาจจะถึงชีวิตได้??” .