นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการ สานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ อธิบายว่า วิธีการของชุมชนไร้ถังคือเน้นที่การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างในครัวเรือนด้วยการคัดแยกขยะเข้าสู่ศูนย์จัดการวัสดุที่ตั้งขึ้นมา แต่ที่ต่างออกไปคือโมเดลนี้จะเรียกขยะด้วยคำว่า “วัสดุ” เพราะวัสดุคือสิ่งที่ยังใช้ได้และมีมูลค่า เพื่อให้สมาชิกได้นำเอาวัสดุที่ถูกคัดแยกมาฝากไว้กับระบบธนาคารขยะในศูนย์ฯ ก่อนนำขยะหรือวัสดุนั้นไปแปรเปลี่ยนเป็นประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชน

“ในศูนย์จัดการวัสดุจะบริหารงานด้วยนวัตกรรมระบบการจัดเก็บข้อมูลวัสดุรีไซเคิล เมื่อสมาชิกได้นำวัสดุเหลือใช้มาคัดแยกในศูนย์ฯ ระบบจะบันทึกข้อมูลทั้งหมด แล้วประสานงานกับบริษัทรีไซเคิลต่าง ๆ เพื่อมารับซื้อไป โดยที่ระบบจะดำเนินการคำนวณวัสดุที่มาฝากเป็นมูลค่าเงิน เพื่อปันผลคืนให้กับสมาชิกเป็นเงินสดกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนวัสดุที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ เช่น กล่องยูเอชที ถุงพลาสติก ก็จะมีบริษัทนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาใช้งานในชุมชนอีกที หรือส่วนที่รีไซเคิลไม่ได้ เช่น เศษอาหาร ใบไม้ จะถูกนำไปหมักเป็นปุ๋ยมาใช้ประโยชน์เช่นกัน

วิธีคิดนี้จะทำให้เราจัดการทุกสิ่งออกจากถังขยะทั้งหมด ตามชื่อชุมชนไร้ถัง ปริมาณขยะจะลดลงอย่างเห็นผล ส่งผลให้ไม่มีขยะออกสู่สังคมหรือตกลงไปในลำคลองอีกต่อไป

นอกไปจากจุดประสงค์ที่ต้องการลดขยะในเขตชุมชนริมคลองแล้ว โครงการชุมชนไร้ถังยังมุ่งต่อยอดสร้างพฤติกรรมจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดขยะหลุดจากกระบวนการออกสู่สิ่งแวดล้อม ไปเป็นต้นเหตุของก๊าซเรือนกระจกในชั้นโอโซน ฉะนั้นวัสดุทุกชิ้นศูนย์จัดการฯ จึงมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ โดยที่ระบบจะเป็นตัวเก็บข้อมูลและคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โครงการจัดการได้อีกด้วย

 “โครงการชุมชนไร้ถังจะมีการประเมินทุก ๆ 3 เดือน ว่าปริมาณขยะลดลงจากที่เป็นอยู่ในระดับไหน ก่อนที่เราจะสรุปผลในช่วงปลายปี เพื่อพัฒนาโมเดลนี้ขยับไปสู่ชุมชนริมคลองอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอีก 12 ชุมชน และขยายไปพื้นที่อื่นในอนาคต ซึ่งถ้าเรารวมความสำเร็จของชุมชนไร้ถังเข้ากับโครงการต้นกล้าไร้ถังจากกลุ่มโรงเรียน นั่นหมายถึงทุกภาคส่วนของสังคมจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะในสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ลดปัญหาขยะพลาสติกในแม่น้ำ คลอง ทะเล และขับเคลื่อนสังคมสีเขียวได้อย่างยั่งยืน”

 “แต่ก่อนชุมชนเราไม่ได้มีการคัดแยกขยะที่ดี” นางตุ๋ย พลอยขาว รองประธานบ้านมั่นคงชุมชนบางบัว เขตบางเขน กล่าว “ชาวบ้านจะทิ้งขยะรวม ๆ กันทั้งขยะแห้งขยะเปียก แต่พอ ซีพี ออลล์ จัดตั้งโครงการชุมชนไร้ถังขึ้น ให้คนในชุมชนเห็นว่าขยะมีมูลค่าเปลี่ยนเป็นเงินได้ แล้วจัดการระบบธนาคารขยะให้ชาวบ้านมาขึ้นทะเบียนขยะ พอทุกคนในชุมชนได้ยินประโยชน์ข้อนี้ผ่านเสียงตามสาย มีการบอกต่อ ๆ กัน ก็มีคนคัดแยกขยะมาขาย ทั้งกล่องนม ขวดพลาสติก เป็นผลดีกับชุมชนอย่างมาก ทำให้ขยะน้อยลง ต่อไปในวันข้างหน้าชุมชนก็คงจะสะอาดขึ้นไม่มีขยะตกลงไปในคลอง”

ทั้งนี้ได้มีการลงนามบันทึก ข้อตกลง (MOU) “ชุมชนไร้ถัง” ระหว่าง นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ร่วมกับ นางสาว วรรณิศา หงันเปี่ยม  ประธานชุมชนบ้านมั่นคงชุมชนบางบัว พร้อมด้วย นางสาวสุดารัตน์ สังข์ฤทธิ์  ที่ปรึกษาโรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ดูแลโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” พร้อมเปิดให้บริการธนาคารขยะ และศูนย์จัดการขยะชุมชนบ้านมั่นคงชุมชนบางบัว เพื่อแก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชน และสร้างองค์ความรู้ในการจัดการขยะที่ถูกต้องและยั่งยืน ด้วยปณิธาน  ร่วมสร้างสรรค์ และแบ่งปันโอกาสต่อกัน