ขณะที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน กำลังติดต่อประสานงาน กับคณะกรรมาธิการหลัก ในสภาคองเกรส เพื่อให้สหรัฐออกกฎหมาย ห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียแยกต่างหากอีก

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับการหารือ เผยต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ว่า ยุโรปพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก แต่มีท่าทีเห็นด้วยมากขึ้น กับแนวคิดห้ามน้ำมันและก๊าซรัสเซีย ในระยะ 24 ชั่วโมงของการหารือ

ด้าน นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวในวันเดียวกันว่า สภาคองเกรสกำลังพิจารณาออกกฎหมาย เพื่อห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซีย และจะเสนอร่างกฎหมายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาอนุมัติ เงินช่วยเหลือยูเครน จำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (325,110 ล้านบาท) เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน

บลิงเคน ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินสายทั่วยุโรป เพื่อประสานงานกับพันธมิตรเผยว่า การหารือระหว่างสหรัฐ กับบรรดาประเทศหุ้นส่วนในยุโรป เกี่ยวกับการห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซีย กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น แต่ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกันว่า ความเคลื่อนไหวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอุปทานน้ำมันโลก

ญี่ปุ่น ซึ่งรัสเซียขายน้ำมันดิบให้ มากเป็นอันดับ 5 เข้าร่วมการหารือกับสหรัฐและกลุ่มประเทศในยุโรปด้วย เพื่อจะห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียอีกประเทศ จากรายงานของสำนักข่าวเกียวโด เมื่อวันที่ 7 มี.ค.

แต่ในระหว่างการแถลงข่าว ที่ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงโตเกียว นายฮิโระคาสึ มัตสึโนะ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับทางการสหรัฐ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูง ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากสหรัฐและพันธมิตร ประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย จากการบุกโจมตียูเครน

แกนนำสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ ของทั้ง 2 พรรค เดโมแครต-รีพับลิกัน ร่วมกันนำเสนอร่างกฎหมาย เมื่อวันที่ 3 มี.ค. เพื่อห้ามสหรัฐนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกผลักดันแบบเร่งรัด เพื่อให้ผ่านการอนุมัติเป็นกฎหมายบังคับใช้ จากสภาคองเกรสโดยเร็ว

หลังจากรัสเซียบุกยูเครน ทำเนียบขาวประกาศห้ามการส่งออกเทคโนโลยีสหรัฐ ให้โรงกลั่นน้ำมันรัสเซีย และโครงการท่อส่งน้ำมันรัสเซีย-เยอรมนี “นอร์ด สตรีม 2” ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ

บลิงเคน กล่าวว่า ยังมีมาตรการเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ที่สหรัฐกำลังพิจารณาใช้ เพื่อเพิ่มแรงกดดันรัสเซีย แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด

ปัจจุบัน สหรัฐเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง มากที่สุดในโลก และจากการที่ชาวอเมริกัน นิยมใช้รถยนต์คันใหญ่ มีเครือข่ายถนนหนทางให้ขับรถได้ยาวไกลทั่วประเทศ และมีบริการขนส่งสาธารณะน้อยในหลายพื้นที่ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมักจะเป็นปัญหาทางการเมืองทุกครั้งสำหรับผู้นำสหรัฐ

ราคาเฉลี่ยแห่งชาติ น้ำมันเบนซินในสหรัฐ เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่แกลลอนละ 4.009 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 132.66 บาท) ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2551 สูงขึ้นประมาณ 40 เซนต์ จากสัปดาห์ก่อนหน้า และสูงขึ้น 57 เซนต์ จากเดือนที่แล้ว

จากข้อมูลของสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานสหรัฐ (อีไอเอ) สหรัฐนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันกลั่น จากรัสเซีย โดยเฉลี่ยเดือนละกว่า 20.4 ล้านบาร์เรล ในปี 2564 หรือประมาณ 8% ของการนำเข้าเชื้อเพลิงเหลวทั้งหมด.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS