KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกรายงาน “ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ” ประเมินความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนกำลังกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจโลกและไทย โดยเหตุการณ์นี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงมากและผลลัพธ์ของสงครามในครั้งนี้มีความเป็นไปได้ 3 ทาง คือ 1) รัสเซียบุกเข้ายึดกรุงเคียฟและโค่นล้มรัฐบาลยูเครนสำเร็จจนบังคับให้ประเทศตะวันตกตัดการซื้อพลังงานจากรัสเซีย 2) การเจรจาหยุดยิงระหว่างยูเครนและรัสเซียประสบความสำเร็จและไม่มีการยกระดับมาตรการคว่ำบาตร 3) สงครามยืดเยื้อเป็นเวลานานและแผ่ในวงกว้าง
-มาตรการคว่ำบาตรเพียงพอหรือไม่
หลายประเทศในตะวันตกตอบโต้การบุกของรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตร โดยมาตรการในเบื้องต้นมุ่งเน้นไปที่การอายัดทรัพย์สินของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซีย อายัดทรัพย์สินของธนาคารบางแห่ง ตัดสิทธิการซื้อขายตราสารหนี้ของธนาคารดังกล่าวในตลาดการเงินสหรัฐฯและยุโรป ตัดธนาคารบางแห่งออกจากระบบ SWIFT และตัดธนาคารกลางของรัสเซียไม่ให้ทำธุรกรรมสกุลเงินดอลลาร์ มาตรการคว่ำบาตรทำให้ค่าเงิน RUB อ่อนค่าอย่างรุนแรงและจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยและอาจเจอความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อและการผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจประเทศตะวันตกพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียมาก หากประเทศตะวันตกยังไม่กล้าหยุดซื้อพลังงานซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของรัสเซียจากความกังวลว่าเศรษฐกิจของประเทศจะถูกกระทบรุนแรง มาตรการต่าง ๆ ในปัจจุบันจะยังไม่เพียงพอที่จะหยุดการรุกรานจากรัสเซีย
-มาตรการต่อไปคืออะไร ?
การใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมของประเทศตะวันตกในระยะถัดไป จะต้องพิจารณาถึง 1) ความเสี่ยงที่จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งแผ่ในวงกว้างและความรุนแรงของการรุกราน 2) ผลกระทบย้อนกลับต่อเศรษฐกิจของตนเอง KKP Research มองว่ามีความเป็นไปได้ที่ประเทศตะวันตกจะนำมาตรการคว่ำบาตรทางพลังงานมาใช้ หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงจนเกิดความเสียหายอย่างล้นหลามสะท้อนจากท่าทีของเยอรมันที่เปลี่ยนไปที่วางแผนจะลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งในกรณีที่มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางพลังงานจริงจะทำให้ราคาพลังงานทั้งในยุโรปและโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก หากรัสเซียตัดสินใจตอบโต้ด้วยการลดอุปทานของน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ
Bank of America ประเมินว่าทุก ๆ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันที่หายไปอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังนั้น ถ้าหากน้ำมันดิบจากรัสเซียถูดตัดขาดจากตลาดโลกอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 100 ดอลลาร์เป็น 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งในกรณีดังกลาวจะกลับมากระทบเศรษฐกิจโลกค่อนข้างรุนแรงจากทั้งปัจจัยด้านราคา และอาจเกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบในระยะสั้นทำเกิดการหยุดชะงัดของภาคการผลิตได้
-สงครามยืดเยื้อดันเงินเฟ้อเกิน 4%
KKP Research ประเมินว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นแรงที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปี โดยผลกระทบจากสงครามจะกระทบเศรษฐกิจไทยใน 3 ช่องทางหลัก
1.การส่งออกของไทยอาจขยายตัวได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ ผลกระทบทางตรงที่ไทยจะได้รับคือผลจากการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยแม้ว่าสัดส่วนการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนจะต่ำ คือ รวมกันประมาณ 0.7% ของการส่งออกทั้งหมด แต่การส่งออกไปยังยุโรปที่มีสัดส่วนกว่า 10% จะได้รับผลกระทบหากเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว อย่างไรก็ตามผลกระทบที่น่ากังวลมากที่สุดจะเกิดจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ จากการหยุดชะงัดของการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบให้บางภาคการผลิตต้องหยุดกิจการ โดยกลุ่มสินคานำเข้าหลัก ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และธัญพืช
2.อัตราเงินเฟ้อในปี 2565 อาจปรับตัวสูงขึ้นเกิน 4% ตามราคาน้ำมันดิบโลก ความขัดแย้งในครั้งนี้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ KKP Research ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีจะสูงขึ้นเกิน 110 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง บนสมมติฐานว่าประเทศตะวันตกจะมีการลดการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จากรัสเซียลงบางส่วน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีสูงขึ้นเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากที่เคยคาดไว้ที่ 85 และคาดว่ายังมีโอกาสที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยจะสูงเกิน 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลในสถานการณ์ที่สงครามมีความรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด KKP Research ประเมินว่าเมื่อนับรวมกับปัญหาราคาอาหารสดและอาหารนอกบ้านที่แพงขึ้นก่อนหน้านี้ จะทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2565 ของไทยสูงขึ้นเกิน 4% สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2551 หรือสูงที่สุดในรอบ 14 ปี และจะส่งผลกลับมากระทบการบริโภคให้ชะลอตัวลง
3.นักท่องเที่ยวอาจเดินทางมาน้อยกว่าที่ประเมินไว้ เกิดจากนักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะเดินทางมาได้น้อยลง โดยในช่วงที่ต้นปี 2022 นักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไทยมากที่สุด คิดเป็นประมาณเกือบ 10% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะเพิ่มต้นทุนการเดินทางระหว่างประเทศและทำให้อุปสงค์ต่อการท่องเที่ยวลดลง
นอกจากนี้ผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องและจะเป็นความท้าทายสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจของไทย คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีโอกาสขาดดุลอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและไทยนำเข้าน้ำมันในสัดส่วนสูง ประกอบกับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาได้น้อยกว่าที่คาดไว้จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีโอกาสขาดดุลเพิ่มเติม ในขณะที่แม้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงเล็กน้อย KKP Research ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐ จะยังห่างออกจากกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันสำคัญจะเกิดขึ้นต่อค่าเงินบาทที่อาจผันผวนและอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น
แม้ว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังมีหลายทางออกที่เป็นไปได้ KKP Research ประเมินว่าในปัจจุบันมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่สถานการณ์จะเข้าสู่กรณีที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยได้ และเหตุการณ์นี้นับเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และสร้างความท้าทายสำคัญต่อนโยบายการเงินไทยในระยะต่อไปที่ต้องดูแลทั้งเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กัน