ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก การควบคุมป้องกันโรคจะต้องดำเนินการให้ทั่วถึง โดยประเทศไทยมีการจ้างแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติ ทั้งลาว กัมพูชา และเมียนมา จำนวนมาก โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน ซึ่ง “นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน” เปิดเผยตัวเลขล่าสุด มี แรงงานต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน เป็นแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ส่วนหนึ่งเพราะใบอนุญาตทำงานหมดอายุ
กระทรวงแรงงานได้วางแนวทางแก้ปัญหาคือ พยายามนำคนที่ยังไม่ได้เข้าระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ ซึ่งจากข้อมูลวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา มีแรงงานลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเข้ารับการตรวจโควิดและเพื่อเก็บอัตลักษณ์บุคคล ประมาณ 6.5 แสนคน ดำเนินการเก็บอัตลักษณ์บุคคลได้ 505,202 คน ที่เหลือเป็นชื่อ หรือข้อมูลซ้ำซ้อน
“ทำให้ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 1,050,000 คน เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลได้ตามกฎหมายให้ได้รับสิทธิทั้งการตรวจ การรักษา และการเยียวยา”
นายสุชาติ อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่กระทรวงแรงงานดำเนินคือ การตรวจโควิด-19 ในแรงงานต่างด้าวเชิงรุกในสถานประกอบการ กว่า 38,140 คน เมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการจะส่งเข้ารับการรักษาใน Hospitel ส่วนผู้ที่ตรวจพบเชื้อและมีอาการจะส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือประกันสังคม โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแล รวมถึงดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่แรงงานต่างด้าวไปแล้วกว่า 46,451 คน
ส่วนเรื่องของการเยียวยาแรงงานต่างด้าว แบ่งเป็น 1. จ่ายสิทธิประโยชน์ว่างงานกรณีสุดวิสัย 62 % ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.–1 ธ.ค. 2563 มีผู้ได้รับสิทธิ 62,486 คน รวมเป็นเงิน 645.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม 10,717 คน และกิจการที่พักแรม 7,049 คน 2. จ่ายสิทธิประโยชน์ว่างงานกรณีสุดวิสัย 50% วันที่ 1 ม.ค. 2564–30 มิ.ย. 2564 มีผู้ได้รับสิทธิ 17,851 คน รวมเป็นเงิน 64.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร 6,787 คน และกิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม 2,774 คน
3. ลดอัตราเงินสมทบ 4 ครั้ง รวม 12 เดือน ผู้ได้รับสิทธิต่อเดือนประมาณ 1,050,000 คน คิดเป็นเงินสมทบที่ลดลงให้ผู้ประกันตนต่างชาติประมาณ 5,950 ล้านบาท 4. สนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคผ่านสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นมาตรการเสริมที่กระทรวงแรงงาน ขอความร่วมมือนายจ้างสถานประกอบการดูแลอาหารทั้ง 3 มื้อให้คนงานในแคมป์ก่อสร้างตามมาตรการปิดแคมป์คนงาน เป็นเวลา 1 เดือน โดยภาคเอกชนสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พร้อมด้วยอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้กระทรวงแรงงานมอบผ่านสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำไปส่งให้แคมป์คนงานต่าง ๆ รวมมูลค่า 12,5431,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการปันน้ำใจร้านค้าสู่แรงงานเพื่อส่งข้าวกล่องให้คนงานในแคมป์ โดยกระทรวงแรงงาน สนับสนุนอาหารวันละ 1 มื้อ ตั้งแต่วันที่ 12-27 ก.ค. 2564 ให้คนงานในแคมป์ก่อสร้างในกทม.วันละ 750,000 กล่อง และส่วนจังหวัดปริมณฑล คือปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ รวมวันละ 500,000 กล่อง รวมมูลค่า 50 ล้านบาท
ทั้งนี้จากที่ได้อธิบายไปในตอนต้นว่ายังมีแรงงานบางส่วนที่ยังเป็นกลุ่มคนที่ทำงานผิดกฎหมาย และไม่ได้เข้าระบบประกันสังคมราวๆ 2 แสนคน การที่คนเหล่านี้จะได้รับการชดเชย เยียวยาตามกฎหมายนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะงบประมาณที่นำมาใช้นั้นเป็นเงินภาษีของประเทศไทย การแก้ปัญหาคือตนได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยการผ่อนผันแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ใบอนุญาตหมดอายุการทำงาน ให้ทำงานต่อได้ และปรับระยะเวลาการหานายจ้างรายใหม่ของแรงงานต่างด้าวจาก 30 วัน เป็น 60 วัน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวทั้ง 3 กลุ่ม ได้มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้อง
“ที่เราทำก็เหมือนกับเป็นการนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ เพื่อนำเขาเข้าสู่ระบบจะได้รับการดูแลตามกฎหมายต่อไป แต่ยังไม่สามารถได้รับสิทธิในการได้รับเงินชดเชยเยียวยา เพราะต้องมีการจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือนก่อน ส่วนสิทธิในการรักษาพยาบาลต่างๆ ในระบบประกันสังคม ซึ่งตามกฎหมายจะต้องส่งเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือน เพราะฉะนั้นช่วงนี้ยังไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว แต่ที่ผมทำตรงนี้เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว”
ในส่วนมาตรการระยะสั้น หรือช่วงที่ยังเป็นช่องว่างนี้ คนเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบการดูแลอื่นๆ ที่ครอบคลุม เช่น การตรวจหาเชื้อโควิด-19 และการรักษา กรมควบคุมโรคจะเป็นผู้ดูแล ขอย้ำว่าเราทำงานร่วมกันไม่มีการทิ้งใครเอาไว้ เพราะการแก้ปัญหาโรคระบาดทุกคนต้องได้รับการดูแล เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยในภาพรวม
ส่วนสถานการณ์ในช่วงนี้ที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องรอเข้ารับการรักษาตัว ทำให้มีการปรับระบบการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน Home Isolation หรือการดูแลตัวเองในชุมชน (Community Isolation) ในส่วนของแรงงานต่างด้าว ผมได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ทำหนังสือถึงสำนักงานประกันสังคมทุกจังหวัด เพื่อหารือกับทางจังหวัดในการจัดทำ FQ หรือ Factory Quarantine คือระบบการแยกกักและดูแลกันภายในโรงงาน เหมือนที่เราเคยทำที่จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงที่มีแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวติดเชื้อจำนวนมาก ซี่งถือว่าได้ผลดี
“เราไม่เคยแยกแยะ ใครที่ไม่ถูกต้องก็เอาเข้าระบบตามกฎหมายเพื่อให้เขาได้รับสิทธิอย่างถูกต้อง เป็นการแก้ปัญหาต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ดังนั้น อยากให้ทุกคนที่มีจิตใจที่บริสุทธิ์ มาช่วยกันแก้ไขปัญหา แต่ไม่ใช่ติเตียนโดยไม่รู้ข้อมูลจริง เพราะมันทำให้ข้าราชการบางครั้งเขาเสียความรู้สึก เสียใจ ทุกอย่างเรายืนบนพื้นฐานความเป็นจริงในการช่วยเหลือคนทุกคน” นายสุชาติ ระบุในตอนท้าย