เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานีได้พ้นจากตำแหน่งตามวาระ 2 ปี นั้น คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 จึงประกาศดำเนินการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี “กศจ.”  จำนวนไม่เกิน 6 คน ซึ่งต้องมีผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ผู้แทนองค์กรวิซาชีพ และ ผู้แทนภาคประชาชนประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน) จำนวน 1 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ)จำนวน 1 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนภาคประชาชน) จำนวน 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ทั่วไป) จำนวน 3 คน โดยมีผู้มายื่นสมัครจำนวน 31 คน

รายงานข่าวแจ้งว่าหลังจากการปิดรับสมัคร มีการวิพากษ์วิจารณ์แพร่หลาย เกี่ยวกับผู้สมัครบางรายรวมถึงการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานี ระบุถึงผู้สมัครบางรายขาดคุณสมบัติในการสมัครและมีผู้สมัครอีกหลายรายมีพฤตินัย/พฤติกรรม ไม่เหมาะสมที่จะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และบางรายขาดคุณสมบัติอายุเกิน 70 ปี

นายวิบูลย์ กุลวงศ์ ประธานชมรมพิทักษ์ระบบคุณธรรมและสิทธิครูจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า อยากกราบเรียนไปยังคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมี ผวจ.อุบลราชธานี เป็นประธานได้กรุณาตรวจสอบเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การได้มาและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กศจ. ที่บัญญัติว่า “บุคคลผู้สมควรได้รับการสรรหาให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กศจ.ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม 3 ประการประกอบด้วย

1.ต้องเป็นผู้ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม นั้น ซึ่งสามารถพิจารณาได้ทั้งการกระทำทาง “นิตินัย” และทาง “พฤตินัย” 2.ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม หมายความว่า ไม่เคยมีพฤติกรรมแห่งการกระทำที่เสื่อมเสียทางจริยธรรมอยู่เลย ซึ่งประวัติเช่นว่านี้อาจเป็นหลักฐานของทางราชการก็ได้ เช่น คำพิพากษาของศาล หลักฐานการถูกแจ้งความร้องทุกข์ หรือหลักฐานแวดล้อมอื่นที่เชื่อได้ว่าบุคคลนั้นมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม และ 3. กรณีเป็นข้าราชการที่ถูกลงโทษทางวินัย แต่ได้รับการล้างมลทิน ก็ถือเป็นผู้เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรมเช่นเดียวกัน

สรุป คณะกรรมการที่มีหน้าที่สรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กศจ.ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ คำวินิจฉัยของ ก.ค.ศ. เกี่ยวกับข้อกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กศจ.ก็ดี อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กศจ.ก็ดี ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามคำวินิจฉัยของ ก.ค.ศ. ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติต่อไป