กรณี “เดลินิวส์” เฝ้าเกาะติดสถานการณ์ โรค “ลัมปี สกิน” โรคอุบัติใหม่ แพร่ระบาดโค-กระบือ ในประเทศไทย สภาพจะเป็นตุ่มขนาดใหญ่ ขึ้นที่ผิวหนัง ลุกลามไปทั่วตัวเมื่ออาการหนักตุ่มจะแตกกลายเป็นแผลเน่า บางตัวทนไม่ไหวล้มตายอย่างน่าเวทนา กระทั่งล่าสุดพบระบาดลุกลามสู่สัตว์ป่าคุ้มครอง ทั้ง กระทิงในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และวัวแดง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี จนกลายเป็นที่วิตกว่าจะทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์ นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่22 ก.ค. ที่ จ.อุทัยธานี นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารจัดการพื้นที่ 12(นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรณีกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า หรือคาเมรา แทรปสามารถถ่ายภาพวัวแดง มีลักษณะเป็นตุ่ม คล้ายกับลักษณะของโรคลัมปี สกิน นั้น ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า วัวแดงติดเชื้อมาหรือไม่ ต้องรอผลตรวจละเอียดที่แน่ชัดอีกครั้ง แต่มีความเป็นไปได้ที่ได้รับการแพร่เชื้อจากปศุสัตว์ ผู้ที่เลี้ยง โค-กระบือ และสัตว์พาหะ พวกแมลงดูดเลือดนำมาแพร่
ส่วนข้อกังวลของหลายฝ่าย หากวัวแดงติดเชื้อจริง อาจจะแพร่เชื้อไปยัง ควายป่าหรือ มหิงสา ซึ่งถือเป็นควายป่าฝูงสุดท้ายของผืนป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่ามรดกโลก รวมทั้งสัตว์กีบ ชนิดอื่นๆ จะมีแนวทางในการป้องกันได้อย่างไรนั้น นายธนิตย์ เปิดเผยว่า ควายป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุมทางตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง ขณะที่วัวแดง มีหลายฝูง และเป็นสัตว์กีบ เช่นเดียวกับ โค-กระบือที่ชาวบ้านเลี้ยง ก็ยอมรับว่ามีความวิตก มีโอกาสที่จะรับเชื้อนี้ได้ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าฯซึ่งเป็นชุดลาดตระเวน เฝ้าระวัง หากพบการตายของวัวแดงในพื้นที่ จะให้เร่งทำการฝังกลบทันที เพื่อป้องกันแมลงพาหะนำเชื้อไปแพร่ติดต่อกับควายป่า รวมทั้งสัตว์กีบชนิดอื่นๆ แต่ยอมรับว่าการป้องกันกับสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่ยากมาก
ผู้สื่อข่าว รายงานมาด้วยว่า สำหรับควายป่า มีรายงานพบเพียงแห่งเดียวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทางตอนใต้ของผืนป่า เหลืออยู่ราว 50 ตัวจำนวนประชากรน้อยนิดนี้ จึงเปราะบาง เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
ด้าน อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง ซึ่งทำงานเป็นนักจัดการสัตว์ป่าระบบนิเวศ เปิดเผยกับเดลินิวส์ ว่า ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า 85 ตัว กระจายพื้นที่กำหนดเพื่อเตรียมการเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ห้วยระบำ ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค.พบภาพถ่ายวัวแดง มีตุ่มตามลำตัว ปรากฏชัดครั้งแรก ครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลังจากวันที่25 มิ.ย และพบสัตว์เป็นตุ่มแผลเพิ่มขึ้นอีกหลายตัว ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ทั้งนี้จากการติดตามวัวแดงที่แสดงให้เห็นเป็นอาการของโรคลัมปี สกิน โดยกล้องดัก ถ่ายภาพสัตว์ป่า ในปัจจุบัน(12 ก.ค. ) พบวัวแดงตัวที่ต่างกันที่พบว่า แสดงอาการอย่างน้อย 9 ตัว เป็นตัวไม่เต็มวัย 6ตัว และตัวเต็มวัยอีก 3 ตัว
การกระจายตัวของสัตว์ที่แสดงอาการการ พบมากที่บริเวณซับดงเย็นซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่กำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ห้วยระบำ กับพื้นที่เปิดโล่งทางทิศตะวันตกของเขื่อนทับเสลาและบริเวณทิศใต้ของพื้นที่กำหนดเตรียมการ ที่ติดต่อเนื่องกับห้วยระบำและสวนป่าระบำ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สังเกตได้ว่าการกระจายตัวของโรคมีลักษณะเป็นแบบรวมกลุ่มและกระจายไปตามด่านสัตว์ป่าเข้าไปสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งได้ส่งภาพนี้ไปให้กรมปศุสัตว์ ดูทุกคนก็ตกใจและ ยอมรับว่าเป็นโรคลัมปีสกิน จริง ในขณะเดียวกันตนยังได้พูดคุยกับปศุสัตว์เขตฯรวมทั้ง ผอ.สำนักบริหารอนุรักษ์ที่ 12 กรมอุทยานฯ ซึ่งรายหลังนี้ตั้งข้อสังเกตอยากให้พิสูจน์ นำตัวอย่างของวัวแดง ส่งห้องปฏิบัติการหรือห้องแลปเสียก่อนว่า วัวแดงติดเชื้อโรคลัมปีสกิน จริงหรือไม่ ในขณะเดียวกันยังได้ส่งข้อมูลทั้งหมดรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ด้วย
“ถ้าแบบนี้ เห็นว่ากว่าเราจะรวบรวมข้อมูลนี้ได้เชื้อไม่แพร่กระจายไปทั่วผืนป่าห้วยขาแข้งแล้วหรือ เพราะเพียงแค่ไม่กี่วันลักษณะอาการมันก็รุนแรงเพิ่มขึ้นหากปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นแบบนี้ โดยไม่ทำอะไร เห็นมีแต่ประชุมๆกันยังไม่ได้อะไรเลยและในระหว่างรอจะแพร่ระบาดไปขนาดไหน” อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง กล่าว.