จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ดัชนีราคาอาหารของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization : FAO) ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 140.7 จุด ในเดือน ก.พ. 2565 สูงขึ้นจาก 135.4 จุด ในเดือน ม.ค.ก่อนหน้า

ปัจจัยหลักทำให้ราคาสินค้าอาหารสูงขึ้น เกิดจากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ในหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศกำลังฟื้นตัว จากวิกฤติโควิด-19 และเอฟเอโอได้ส่งสัญญาณเตือนว่า ราคาต้นทุนสินค้าสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อประชากรกลุ่มยากจน ในประเทศที่ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้า

แต่นายอุบาลี กัลเคติ อารัตชิลาเก นักเศรษฐศาสตร์ของเอฟเอโอ กล่าวว่า แรงผลักดันราคาอาหารโลกพุ่งสูง ส่วนหลักมาจากภายนอกวงจรการผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมพลังงาน ปุ๋ย และอาหารสัตว์ ปัจจัยเหล่านี้บีบหดอัตรากำไรของผู้ผลิตอาหาร รวมทั้งทำให้ตัดสินใจไม่ลงทุน และขยายการผลิต

ข้อมูลราคาอาหารโลก ของเดือน ก.พ. ส่วนใหญ่ รวบรวมก่อนที่กองทัพรัสเซียจะบุกโจมตียูเครน และความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียด ในเขตทะเลดำ ก่อนหน้านั้น สร้างแรงกดดันต่อตลาดการเกษตรอยู่แล้ว

นักวิเคราะห์เตือนว่า สงครามยูเครนหากยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ ต่อการส่งออกธัญพืช

แถลงการณ์ของเอฟเอโอ ระบุว่า ดัชนีราคาน้ำมันพืชของเอฟเอโอ สูงขึ้น 8.5% เมื่อเทียบอัตราเดือนต่อเดือน ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สู่ระดับสูงเป็นสถิติอีกครั้ง จากปัจจัยราคาน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ถีบตัวสูงขึ้น

ยูเครนและรัสเซีย 2 ประเทศ มีสัดส่วนส่งออกน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน รวมกันประมาณ 80% ของโลก

ดัชนีราคาธัญพืช ในเดือนที่ผ่านมา สูงขึ้น 3.0% ราคาข้าวโพดสูงขึ้น 5.1% ส่วนราคาข้าวสาลีสูงขึ้น 2.1% ภาพในวงกว้างสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอน เกี่ยวกับการส่งออกธัญพืช ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ที่อยู่รอบริมฝั่งทะเลดำ

ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นมของเอฟเอโอ ในเดือน ก.พ. สูงขึ้น 6.4% และสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงภาวะตึงตัวของแหล่งผลิตโลก ส่วนดัชนีราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้น 1.1%

ในทางตรงกันข้าม น้ำตาลเป็นดัชนีเดียวที่ราคาลดลง ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับราคาในเดือน ม.ค.ก่อนหน้า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก คาดการณ์ผลผลิตสูง ใน 2 ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ คือ อินเดียและไทย

เอฟเอโอยังได้ออกรายงานเป็นครั้งแรก คาดการณ์ผลผลิตธัญพืชทั่วโลกในปี 2565 โดยคาดว่าการผลิตข้าวสาลี จะสูงขึ้นถึง 790 ล้านตัน จาก 775.4 ล้านตันในปี 2564 ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากคาดการณ์ผลผลิตสูง และมีการเพาะปลูกมากขึ้นในแคนาดา สหรัฐอเมริกา และเอเชีย

แต่เอฟเอโอเตือน คาดการณ์ผลผลิตสูง ไม่ได้รวมปัจจัยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

เอฟเอโอคาดการณ์ ผลผลิตข้าวโพดใน 2 ประเทศยักษ์ใหญ่แห่งภูมิภาคอเมริกาใต้ อาร์เจนตินา-บราซิล จะสูงกว่าระดับเฉลี่ย โดยเฉพาะบราซิลซึ่งข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ผลผลิตปีนี้น่าจะสูงเป็นสถิติถึง 112 ล้านตัน

การใช้ประโยชน์จากธัญพืชทั่วโลก ในปี 2564/2565 คาดว่าจะสูงถึง 2,802 ล้านตัน หรือสูงขึ้น 1.5% จากระดับของปี 2563/2564

และคาดว่าปริมาณธัญพืชในสต๊อกทั่วโลก ถึงช่วงปิดฤดูกาลปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 836 ล้านตัน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES