จนถึงนาทีนี้ ข่าวที่เรียกว่า ฮอตที่สุดคือข่าวการเสียชีวิตปริศนาของดาราสาว “แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์” ซึ่งชาวเน็ตขุดกันตั้งแต่วันเกิดเหตุ 24 ก.พ. ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่หยุด ภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่า มี ความ “บ้ง” และ “โป๊ะ” ที่เห็นได้จากผู้เกี่ยวข้องหลายคน จนไม่ค่อยจะน่าเชื่อเท่าไรว่า เป็นอุบัติเหตุจริงตามที่พยาน  คือคนอยู่บนเรือในวันเกิดเหตุให้การณ์ว่า ดาราสาวขอไปฉี่ท้ายเรือแล้วพลัดตกลงน้ำไปเอง

ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งบอกว่า “เพลาๆ ลงบ้างข่าวแตงโมน่ะ” เพราะขณะนี้มันมีเรื่องที่สำคัญระดับโลกคือการที รัสเซียทำสงครามกับยูเครน เนื่องจากไม่พอใจที่ยูเครนจะไปเข้าร่วมนาโต ทำให้ กองกำลังนาโต สามารถตั้งฐานทัพในยูเครนได้ ซึ่งอยู่ในระยะประชิดมอสโกเกินไป และนักวิเคราะห์มองว่า สงครามส่วนหนึ่งมาจากอัตตาของ วลาดิเมียร์ ปูติน ที่ต้องการสร้างจักรวรรดินิยมรัสเซียรวบชาติ ที่เคยแตกตัวออกไปให้กลับมาร่วมเป็นจักรวรรดิใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้น่ากลัวจะขยายไปถึง การขู่หยิบเอานิวเคลียร์ มาใช้กดดันในการต่อสู้อีกครั้ง

แต่เอาจริง สื่อก็มีความหลากหลาย ยิ่งในโลกอินเทอร์เน็ต ผู้รับข่าวสารก็สามารถเลือกรับสารจากสื่อที่เจาะประเด็นตามที่ตัวเองต้องการได้ ใครใคร่อ่านข่าวรัสเซียกับยูเครน ก็มีหลายสื่อที่นำเสนอ กระทั่งถ้าสนใจ เรื่องเกี่ยวกับนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวแล้วโดนเล่นงานทางกฎหมาย ก็มีสื่อที่นำเสนอ วาระของสื่อมันก็มีทั้งที่สื่อเองเป็นผู้กำหนดหรือสังคมเป็นผู้กำหนด สื่อที่เพ่งเรื่องข่าวหนัก อาจกำหนดวาระเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เรื่องการต่างประเทศ แต่สื่อที่เป็นสื่อประเภท “ประชานิยม” ก็กำหนดวาระเอาตามกระแสความสนใจของสังคม

เท่าที่ติดตามข่าวมา เรื่องของดาราสาว “แตงโม นิดา” นี่ยังกะ ละคร เมื่อก่อนหลายคนคงไม่ชอบเธอนัก เนื่องจาก ดูเป็นดาราสาวที่ภาพลักษณ์แรงๆ โดยเฉพาะการแสดงออกใน การชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส. การแต่งงานสายฟ้าแลบกับดาราหนุ่ม โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ แล้วก็เลิกกันโดยที่หลายคนยังคาใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ต่อมา เมื่อเธอเสียชีวิตไป ข่าวดีๆ เกี่ยวกับความรักเพื่อน การทำการกุศลของแตงโมออกมามากมายจนหลายคนเสียดาย และอยากให้เป็น บทเรียนต่อสื่อบันเทิง ว่า “อย่าเลือกทำแต่ข่าวฉาวแล้วพูดเรื่องดีวันที่เขาไม่อยู่แล้ว”

และเมื่อเกิดเหตุที่ดาราสาวตกเรือ “ความบ้งและความโป๊ะ” ที่ออกมาทำให้ชาวเน็ตตั้งข้อสังเกต ตั้งแต่ “เป็นเพื่อนกันภาษาอะไร” ที่เพื่อนตกน้ำแล้วไม่รีบแจ้งตำรวจ ไม่รีบแจ้งกู้ภัย แล้วพูดก็ไม่เหมือนกัน แล้วการพูดจาอะไรตามที่กู้ภัยบอก ก็ทำให้คนกลุ่มบนเรือ “บุคลิกไม่น่ารัก” นัก เช่น ไปพูดกับกู้ภัยว่ามา ทำ***อะไร แล้วสักพักก็ออกมาแก้ตัวว่าเห็น มาทางบก ไม่คิดว่าจะเป็นกู้ภัย จนกลายเป็นเรื่องตลกร้ายให้ชาวเน็ตไปจิกกัดว่า “คิดว่ากู้ภัยทางน้ำเป็นปลาสวายหรือไง”

พอรู้ถึงเหตุการณ์นี้แล้ว ก็นึกถึงหนังเรื่อง parasite ..ครอบครัวปรสิต ขึ้นมา ซึ่งเป็นหนังเกาหลีเรื่องดังที่ว่าด้วยเรื่องของการแบ่งชนชั้นคนรวยคนจน พวกที่ขึ้นเรือสปีดโบ๊ตอาจรู้สึกว่าเขาเป็นอีกชนชั้นหนึ่งซึ่งจะปฏิบัติต่อใครอย่างไรก็ได้ คือมันทำให้เรายิ่งรู้สึกว่า “ความเหลื่อมล้ำมันน่ารังเกียจ” แล้วมาเจอกันจัดฉากขอขมาแม่ผู้เสียชีวิตที่ สภ.เมืองนนทบุรี อีก ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ความบ้งอีกครั้ง เมื่อมีผู้เกี่ยวข้องบางรายไม่ค่อยแสดงอาการสำนึกผิดนัก

ซึ่งมันน่าจะเป็นลักษณะของ อาการต่อต้านสังคม หรือ psychopaths ที่คนบางคนใช้ตรรกะวิธีคิดแตกต่างจากคนอื่น ที่สำคัญคือคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำ ตัวเองพูดนั้นถูกไปหมด พยายามหลีกหนีความผิดหรือการถูกลงโทษ โดยใช้ตรรกะชำรุดแค่ไหนมาสู้ก็ได้ให้ตัวเองชนะ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจว่า คนที่ใช้วิธีคิดแบบนี้ต้องเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ถ้ามีนักวิเคราะห์ดีๆ สามารถนำไปขยายผลถึงเรื่องการเลี้ยงดูและการเลือกสิ่งแวดล้อมให้ลูกได้

ต่อมา ก็มีความ “บ้ง” ออกมาอีกคือเรื่อง 30 ล้านบาท ซึ่งทำให้ผู้พูดถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปรุนแรงอยู่ อย่างที่บอกข้างต้นว่า ชีวิตของดาราสาว “แตงโม นิดา” นี่ยังกะละคร จนกระทั่งกองเชียร์ฝ่ายแตงโมหลายคนเสียความรู้สึกรุนแรงว่า “เงินมันมีอิทธิพลมากขนาดนี้เลยหรือ” ซึ่งนั่นคือการ “อิน” กับเหตุการณ์มากจนเอา “คุณธรรมจริยธรรมที่คิดว่าควรจะเป็น” เข้าไปจับกับเรื่องนี้ ..หากมองอย่างเข้าใจ ฝ่ายผู้เสียหายเขาก็มีสิทธิพูดถึงเรื่อง “ค่าชดเชย” พียงแต่ไม่ใช่ “กาลเทศะ” ที่ควรจะพูดมากนัก เพราะกระแสสังคมมองว่า “เรากำลังหาความเป็นธรรมให้แตงโมอยู่ การพูดแบบนี้เหมือนดูแค่ผลประโยชน์” แถมมี การให้อภัยเป็นค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ด้วย เอาสิ

อย่างไรก็ตาม การตกลงเรื่องค่าเสียหายเยียวยาได้ ไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้การหยุดสืบคดีต้องหยุดไป โดยเฉพาะการให้ การที่ไม่ตรงกันของผู้อยู่ในเหตุการณ์ การพบข้อพิรุธสงสัยอื่นๆ หรือ การค้นหลักฐานเพิ่มเติม อาจนำไปสู่การทำสำนวนคดีอื่นที่ไม่ใช่อุบัติเหตุจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้  เพียงแต่ ความโป๊ะ ที่แม้กระทั่งคนต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์คดีนี้คือ “ทำไมไม่จัดการกับพยานหลักฐานและพยานบุคคลทันทีที่เกิดเหตุ” ปล่อยกลับไปนอนเตรียมตัวที่บ้านคืนนึง เรือก็เพิ่งจะยึดมาสอบ แล้วเกิดเหตุ ใบพัดจม ระหว่างจำลองเหตุการณ์อีก            

เช่นนี้แล้ววัตถุพยานมีโอกาสหายไปได้มาก มีคนถึงกับคิดว่า “มีกระบวนการตัดตอนไม่ให้สาวถึงใครที่ใหญ่โตหรือไม่” เพราะข่าวลือที่ออกมาก่อนหน้านี้คือ ดาราสาวถูกหลอกไป “รับงานเอ็น” …เมื่อมีทั้งความ “โป๊ะ” และความ “บ้ง” ของการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ทำให้ความไม่น่าไว้ใจยิ่งมาก จนบางคนคิดไปถึงขั้นว่า การที่มีการแชร์ภาพร่างของแตงโม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการให้ “นักสืบชาวเน็ต” ช่วยกันดูแล้วจับผิดด้วยว่า มีร่องรอยการทำร้ายอะไรหรือไม่

ในการตามข่าวที่เป็นกระแส สิ่งที่ต้องระวังคือ เอาตัวเองเข้าไปอินกับมันเกินไป จนเกิดอารมณ์ร่วม โดยเฉพาะ อารมณ์ซึมเศร้า ถ้าผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่ตัวเองคิด ทำให้ การตามข่าวต้องเอาตัวเองออกจากเรื่องมาระดับหนึ่ง และมองทุกอย่างอย่างรอบด้าน ไม่ใช่มีธงไปก่อนแล้ว ..สิ่งที่เป็นกระแสนั้น ถือว่ามีประโยชน์ที่จะทำให้เกิด การกดดันทางสังคมต่อผู้เกี่ยวข้องระดับหนึ่ง และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ แม้อาจเป็น “วัวหายล้อมคอก” แต่ถ้าขุดเรื่องที่เคยเป็นกระแสมาย้ำกันอยู่บ่อยๆ มันก็ทำให้รู้ว่า “คนไม่ลืม” และผู้เกี่ยวข้องจะต้องระวัง

กระแส “ต้องไม่ตายฟรี” ที่ติดแฮชแท็กให้แตงโมอยู่ ณ ขณะนี้ เคยใช้ได้มาแล้วกับการที่สังคมใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกดดันเรื่อง การทำคดียิงเสือดำของนายเปรมชัย กรรณสูต หรือเรื่อง คดีหมอกระต่าย ที่ถูกรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจชนเสียชีวิตทำให้คดีก็คืบหน้าเร็ว เกิดความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ลามไปถึงการวิพากษ์เรื่องคุณภาพชีวิตในเรื่องอื่น เช่นอย่าง กรณีแตงโม คอยดูอยู่ว่าจะมีการพูดถึงมิติความปลอดภัยเรื่องกล้องวงจรปิดหรือไม่

สังคม-สื่อ ได้อะไรจากเรื่องแตงโม ก็เห็นอยู่ว่า ถ้าลองผนึกกำลังกันทวงความเป็นธรรมให้ใคร ในคดีที่ข้อสงสัยมากมายขนาดนี้ มันมีอิทธิพลมากแค่ไหน ซึ่งน่าจะเอาไปใช้กับคดีอื่นๆ ด้วย โดยสื่อเป็นผู้เปิดวาระ หรือสังคมชาวเน็ตเป็นผู้เปิดวาระก็ได้ คดีเกี่ยวกับการเมืองก็เคยทำกันไม่ใช่หรือ กรณีเสาไฟกินรีของสมุทรปราการที่ช่วยกันถ่ายรูปไปตั้งเสาไฟที่แปลกๆ จนนำไปสู่การต่อยอดสอบสวนผู้เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้าง

และก็หวังว่าจะได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือปฏิรูปอะไรบ้าง เพื่อทำให้สังคมมันน่าอยู่ขึ้น.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”