นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบสะพานข้ามท่าส้ม ต.ตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล โครงการนี้มีพื้นที่ศึกษา ประกอบด้วย ต.ตำมะลัง, ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล ลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตะเมียง บริเวณท่าเรือท่าส้ม

และปรับปรุงถนนต่อเชื่อม โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 406 (ถนนสายปากจ่า-ตำมะลัง) บริเวณ กม.ที่ 69+150 (สามแยกไปบ้านกาลันบาตู) แนวเส้นทางโครงการมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตามแนวถนนเดิม จนกระทั่งถึงคลองตะเมียง สิ้นสุดโครงการที่ถนนต่อเชื่อมของหมู่บ้านกาลันบาตู รวมระยะทางประมาณ 2 กม.

นายอภิรัฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ทช. มีแผนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ผู้แทนกลุ่มต่างๆ ประชาชนในพื้นที่ จำนวน 3 ครั้ง

ซึ่งการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ได้จัดขึ้นไปแล้ว จำนวน 2 เวที ณ ต.ในเมือง และ ต.ตำมะลัง เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอความเป็นมา ลักษณะโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน ขอบเขตการศึกษา พร้อมทั้งได้ตอบข้อซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยและต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว

นายอภิรัฐ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทช. จะนำผลประชุมมาปรับปรุงผลการศึกษาให้สมบูรณ์มากที่สุด เพื่อกำหนดรูปแบบในการก่อสร้างให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งงบประมาณในการก่อสร้างต่อไป คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย.65 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการผลักดันให้เกิดการก่อสร้างตามขั้นตอนในอนาคต  

โครงการนี้เกิดขึ้น เนื่องจาก ทช. เล็งเห็นความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนหมู่บ้านกาลันบาตู และประชาชนทั่วไปที่ต้องการสัญจรระหว่างแผ่นดินใหญ่และหมู่บ้านกาลันบาตู เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีคลองล้อมรอบ ต้องเดินทางด้วยเรือข้ามฟากเท่านั้น ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปโรงพยาบาล เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือการอพยพในกรณีเกิดภัยพิบัติ รวมถึงเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าทางการเกษตรในพื้นที่อย่างยั่งยืน ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม