ทางบริษัทฯ ได้เกิดไฟไหม้โกดังสินค้าเสียหาย 100% และความเสียหายนี้ได้ลามไปถึงบ้านใกล้เคียง ทำให้บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านเป็นเช็ค และซื้ออุปกรณ์มาซ่อมแชมส่วนที่เสียหายและจ้างช่างมาซ่อมแซมให้ถือว่าเป็นรายจ่ายประเภทไหนคะลงบัญชีอย่างไรและการจ่ายเงินนั้นต้องหัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ และทางบริษัทฯ ได้ทำประกันอัคคีภัย ในส่วนของอาคารและสินค้า ไม่ได้ทำประกันภัยแก่บุคคลภายนอก

กรณีเกิดไฟไหม้โกดังสินค้าของบริษัทฯ เสียหายทั้งหมด และได้ลุกลามไปยังบ้านเรือนใกล้เคียงบริษัทฯ เป็นผลให้บริษัทฯ ต้องรับผิดชดใช้ค่าความเสียหายให้แก่เจ้าของบ้านที่ได้รับความเสียหาย โดยบริษัทฯได้จ่ายเป็นเช็คธนาคาร และต้องจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์มาซ่อมแซมในส่วนที่เสียหาย และจ้างช่างมาซ่อมแซม นั้น หากปรากฏชัดแจ้งว่า เป็นความผิดของบริษัทฯ อย่างแท้จริง

1. เงินชดเชยค่าความเสียหาย รวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าจ้างช่างมาซ่อมแซมส่วนที่เสียหายดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากความละเมิดของบริษัทฯ ที่บริษัทฯ ย่อมมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตกลงกับผู้เสียหายเหล่านั้นได้

2. เงินชดเชยค่าความเสียหายดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อจ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

3. สำหรับค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าจ้างช่างมาซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้แก่เจ้าของบ้านที่ได้รับความเสียหายนั้น ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ หากมีภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปบริษัทฯ ย่อมมีสิทธินำมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด.