เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.99 หมื่นล้านบาท ว่า ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างมีความคืบหน้า 91.8% โดยสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา–คลองขนานจิตร 58 กม. คืบหน้า 93.52% ช้ากว่าแผน 6.48% ยังมีปัญหา รฟท. ส่งมอบพื้นที่เวนคืนบางส่วนประมาณ 7% ให้ผู้รับจ้างล่าช้า เนื่องจากค่าทดแทนเดิมไม่เพียงพอ และ พ.ร.ฎ.เวนคืนหมดอายุ ซึ่งปัจจุบัน รฟท. เสนอขอเพิ่มกรอบวงเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โครงการฯ อีกประมาณ 286 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เบื้องต้นทราบว่าอยู่ในขั้นตอนสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป จากนั้น รฟท. จึงจะสามารถส่งมอบพื้นที่ เพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 65

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ 68 กม. รฟท. ได้รับข้อร้องเรียนจากเทศบาลบ้านใหม่ จ.นครราชสีมา ให้ปรับแบบก่อสร้างให้เป็นทางรถไฟเป็นโครงสร้างยกระดับ ทดแทนคันดินยกระดับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณามอบหมายแนวทางได้ภายในเดือน มี.ค. 65 จากนั้นจึงจะเสนอรายงานขออนุมัติดำเนินโครงการได้ตามขั้นตอนต่อไป

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ ระยะทางประมาณ 6 กม. คืบหน้า 90.03% ล่าช้ากว่าแผน 9.96% ยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่เวนคืนบางส่วน ซึ่งพื้นที่ของโครงการบางส่วนยังไม่ได้รับการมอบพื้นที่ โดย รฟท. ต้องรอ ครม. เห็นชอบการขอเพิ่มกรอบวงเงินฯ และดำเนินการเช่นเดียวกับสัญญาที่ 1 นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา แรงงานที่ทำงานในสัญญาที่ 3 ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 200-300 คน ปัจจุบันหายดี และกลับมาทำงานได้ปกติแล้ว ส่วนสัญญาที่ 4 งานจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม คืบหน้า 11.17% ช้ากว่าแผน 29.54% โดยสาเหตุที่ล่าช้า เนื่องจากขอบเขตงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณฯ อยู่ในพื้นที่สัญญาที่ 2 ประมาณ 50% ทำให้ รฟท. ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในส่วนนี้ได้

นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างเร่งปรับรูปแบบการก่อสร้างสัญญาที่ 2 เพื่อให้สามารถขออนุมัติโครงการ ประกวดราคา และก่อสร้างโดยเร็วต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน มีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่มีอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยอุโมงค์ที่ 1 อยู่บริเวณบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง (ปูนนก)-บ้านหินลับ ระยะทาง 5.85 กม. มีความยาวมากที่สุดในไทย., อุโมงค์ที่ 2 บริเวณบ้านหินลับ (เขามะกอก)-มวกเหล็ก ระยะทาง 650 เมตร และอุโมงค์ที่ 3 บริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง-คลองไผ่ ระยะทาง 1.40 กม.

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีทางรถไฟยกระดับที่สูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ โดยอยู่บริเวณมาบกะเบา-กลางดง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ระยะทางประมาณ 5 กม. สำหรับทางรถไฟยกระดับ มีความกว้างด้านบน 10.2 เมตร มีความสูงของโครงสร้างจากระดับพื้นดินถึงระดับสันรางอยู่ที่ 40-50 เมตร สาเหตุที่ต้องยกระดับนั้น เนื่องจากระดับดินเดิมของพื้นที่จากมาบกะเบาถึงกลางดงแตกต่างกันมาก รวมถึงพื้นที่ตรงบริเวณเมืองมวกเหล็กที่ทางรถไฟพาดผ่าน มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ จึงจำเป็นต้องสร้างทางยกระดับ โดยจุดที่สูงสุด 50 เมตร อยู่บริเวณคลองมวกเหล็ก มีระยะทางยาวประมาณ 1 กม.

ด้านนายกฤษดา มัชฌิมาภิโร วิศวกรโครงการฯ กล่าวว่า ขณะนี้ รฟท. กำลังเร่งแก้ปัญหาในทุกเรื่องที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างโครงการฯ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถในช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ได้ก่อนในปี 66 ขณะที่ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 68 เปิดให้บริการปลายปี 69 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมของ รฟท. ที่มีเป้าหมายจะเปิดให้บริการทั้งโครงการในปี 65.