เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ในสมัยดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ว่าร่วมกันออกกฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่กำหนดให้ผู้ที่จะเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการจะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีและข้อ 11 วรรคสองยังกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมว่าเฉพาะรองผู้บัญชาการที่เคยได้รับการเลื่อนตำแหน่งในตำแหน่งควบปรับระดับเพิ่ม-ลดได้ในตัวเองมาก่อนจะต้องมีอายุราชการรวมไม่น้อยกว่า 28 ปีด้วย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผลว่า จากข้อเท็จจริงในคดีนี้แม้ว่าข้อ 11 วรรคสองของกฎ ก.ตร.ดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ทำให้ พล.ต.อ.วีระชัยไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการในการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจประจำปี 2551 ได้ถูกเพิกถอนตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่อ.477/2556 ในภายหลังก็ตาม แต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวได้กำหนดคำบังคับให้การเพิกถอนมีผลไปในอนาคตตั้งแต่วันที่มีการประกาศผลแห่งคำพิพากษาในราชกิจจาฯเป็นต้นไป ดังนั้นในช่วงเวลาระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจประจำปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะมีการประกาศเพิกถอนกฎ ก.ตร. ดังกล่าว ย่อมต้องถือได้ว่ากฎ ก.ตร. ดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายมติของ ก.ตร.ในปีที่ออกตามกฎ ก.ตร. ดังกล่าวในช่วงเวลานั้น จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วและเมื่อข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้มีผลย้อนหลังจึงไม่ใช่กรณีที่ข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อ พล.ต.อ.วิระชัย ดังนั้น มติของ ก.ตร.ที่ปฏิเสธไม่แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.วีระชัย เป็นผู้บัญชาการโดยให้มีผลย้อนหลังตามคำขอของ พล.ต.อ.วีระชัย จึงเป็นมติหรือคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย และ ผบ.ตร.ไม่มีหน้าที่จะต้องออกคำสั่งใหม่และคืนสิทธิประโยชน์ใด ๆ ให้แก่ พล.ต.อ.วีระชัย การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน.