รายงานผลการประเมินของธนาคารโลก ภายใต้หัวข้อ Estimating the Economic and Distributional Impacts of the Regional Comprehensive Economic Partnership เผยแพร่เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า โดยภาพรวม 11 ใน 15 ประเทศที่เข้าร่วมอาร์เซ็ป ได้ประโยชน์จากความตกลงมากที่สุด ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 คือ เวียดนาม ตามด้วยมาเลเซีย อันดับ 3 กัมพูชา 4.จีน 5.ไทย 6. อินโดนีเซีย 7.ฟิลิปปินส์ 8.สปป.ลาว 9.เกาหลีใต้ 10.ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และ 11.ญี่ปุ่น

เวียดนามและมาเลเซีย รายได้ที่แท้จริงของประชากร เพิ่มขึ้นเกือบ 5% ส่วนญี่ปุ่นอันดับ 11 สูงขึ้น 0.5%

เมื่อคิดคำนวณหลังการลดภาษี รวมทั้งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และต้นทุนการค้า มี 5 ประเทศได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ สปป.ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย

ส่วนในแง่การเติบโตของการส่งออก เวียดนามยังคงติดอันดับ 1 สูงขึ้น 11.4% ตามด้วยญี่ปุ่น 8.9% และอันดับ 3 กัมพูชา สูงขึ้น 6.5%

อาร์เซ็ป หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีพหุภาคีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากร 2,300 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก

ใน 15 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกกลุ่มอาเซียน รวมถึงไทยเรา และอีก 5 ประเทศคู่เจรจา ในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมูลค่ารวมผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี อยู่ที่ประมาณ 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (850,000 ล้านบาท) หรือประมาณ 30% ของจีดีพีโลก จากข้อมูลของปี 2562

รายงานระบุอีกว่า อาร์เซ็ปจะช่วยยกสถานะประชากรใน 15 ชาติสมาชิก ขึ้นสู่ชนชั้นกลางอีกอย่างน้อย 27 ล้านคน ภายในปี 2578

ช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทีมนักวิเคราะห์ของธนาคารดีบีเอส ในสิงคโปร์ เผยแพร่รายงานคาดการณ์ ระบุว่า 3 ชาติยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะได้รับประโยชน์จากอาร์เซ็ปมากที่สุด ส่วนเวียดนามจะได้ประโยชน์มากที่สุด ในบรรดา 10 ชาติสมาชิกกลุ่มอาเซียน จากปัจจัยหลักการลดภาษี และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ)

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ระหว่างเวียดนามกับอีก 14 ประเทศอาร์เซ็ป จะเป็นโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ ในเวียดนาม เพิ่มการส่งออก และมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่า (value chains) ของภูมิภาคมากขึ้น หากสามารถเข้าถึงวัตถุดิบราคาถูกกว่า และปรับตัวเข้ากับการแข่งขันที่สูงขึ้น

คาดว่าส่วนใหญ่ของ 10 ชาติอาเซียน จะได้รับประโยชน์จากอาร์เซ็ป ระดับ “ปานกลาง” จากปัจจัยความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีที่มีอยู่ และอัตราภาษีระหว่าง 15 ประเทศของอาร์เซ็ปต่ำมาก

อัตราภาษีโดยเฉลี่ย ที่เวียดนามจัดเก็บ ในการค้าระหว่าง 15 ชาติอาร์เซ็ป อยู่ในระดับกลางที่ 1.2% ต่ำมากเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้  (4.8%) หรือจีน (2.8%)

เวียดนามมีเงินลงทุนไหลเข้าผ่านเอฟดีไอ สูงขึ้นต่อเนื่อง ในระยะหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดอยู่ในกลุ่ม 3 ประเทศแรก ที่รับเงินจากเอฟดีไอสูงสุด ในกลุ่มอาเซียน+6 ซึ่งประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียน กับอีก 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES