เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นาวาอากาศเอก อมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีความขัดแย้งระหว่าง “รัสเซีย กับ ยูเครน” ทำให้มีการปฏิบัติการโจมตีทางทหาร และการโจมตีทางไซเบอร์ เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วย ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ 13 ก.พ. พบมีเหตุการณ์การโจมตีทางไซเบอร์ในระหว่างวันที่ 22-25 ก.พ. 65 ในรูปแบบ DDoS (Distributed-denial-of-service) หรือการก่อกวนเว็บไซต์ของหน่วยงานสำคัญระดับประเทศ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และภาคธนาคาร โดยทำการเข้าถึงหลายเว็บไซต์พร้อม ๆ กัน ทำให้ไม่สามารถเข้าใช้งานได้ ส่งผลให้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตล่ม และยังมีการตรวจพบมัลแวร์ชื่อ Hermetic Wiper ซึ่งมีลักษณะการทำงานที่เน้นการล้างข้อมูลของเป้าหมายบนระบบเครือข่ายภายในประเทศยูเครน ซึ่งบริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์เปิดเผยว่ามัลแวร์นี้จะสร้างความเสียหาย ทำให้คอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์ ไม่สามารถทำงานได้

ทั้งนี้ ยังมีการตรวจพบมัลแวร์ชื่อ Cyclops Blink จากกรณีการปลอมแปลงเว็บไซต์หน่วยงานรัฐบาลของประเทศยูเครน ซึ่งในเว็บไซต์ปลอมนี้ทำแคมเปญชื่อว่า ‘Support the President’ หลอกให้ผู้ใช้งานหลงเชื่อทำการคลิกลิงก์ที่เป็นอันตราย จากนั้นมัลแวร์จะถูกดาวน์โหลดไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งาน และรวบรวมข้อมูลในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งส่งกระทบต่อระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของประเทศยูเครนในขณะนี้

ทั้งนี้ สกมช. โดยศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศปช.) จึงได้ร่วมกับหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล จำนวน 19 หน่วยงาน และศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Sectorial CERT) จำนวน 5 หน่วยงาน หารือแนวทางในการรับมือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง หากระบบเกิดการออฟไลน์หรือระบบหยุดชะงัก โดยทำการตรวจสอบการปิดช่องโหว่ที่อาจได้รับการโจมตี เพิ่มความระวังและติดตามข่าวสารและรายงานจาก สกมช. และเน้นย้ำให้หน่วยงานตรวจสอบ ระบบสารสนเทศภายในองค์กรให้มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อป้องกันตนเองจากภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น

“ไทยมีโอกาสถูกโจมตีได้แบบไม่ตั้งใจด้วยหนอน หรือ worm ที่เป็นมัลแวร์ที่แพร่กระจายตนเองได้อาจส่งผลกระทบถึงระบบที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของไทยได้ และในกรณีการเลือกข้างของรัฐบาลอาจส่งผลกระทบในการต่อต้านทุกด้านรวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ จึงต้องมีการเฝ้าระวังต่อเนื่อง” นาวาอากาศเอก อมร กล่าว