นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจเอฟทีไอ โพล เดือน มี.ค. ภายใต้หัวข้อปรับขึ้นค่าไฟ-ก๊าซฯ กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน สำรวจจากผู้บริหาร ส.อ.ท. ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ว่า ผลสำรวจผู้บริหารส่วนใหญ่ 80.7% เห็นว่า ภาครัฐบาลควรพิจารณาตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) รอบเดือน พ.ค.-ส.ค. ต่อไป รวมถึงความเห็น 53.3% ควรตรึงราคาก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ในการผลิต ขนส่ง และครัวเรือนชั่วคราว เพื่อดูแลเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบประชาชนท่ามกลางค่าครองชีพที่สูง

ทั้งนี้ ผลสำรวจระบุว่า กรณีภาครัฐจะพิจารณาปรับอัตราค่าไฟฟ้า และราคาก๊าซฯ ขึ้นต่อเนื่องนั้น ความเห็นส่วนใหญ่มองว่า จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงในขณะนี้ โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามความเห็นส่วนใหญ่ 87.3% ระบุว่า จะทำให้ราคาสินค้าต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น รองลงมา 82% จะเป็นภาระค่าครองชีพของประชาชน 51.3% จะเป็นการเร่งอัตราเงินเฟ้อให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และท้ายสุดคือ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหยุดชะงัก

“มาตรการที่จะบรรเทาผลกระทบได้ นอกเหนือจากการตรึงค่าไฟและก๊าซฯ แล้ว เอกชนยังเห็นว่า มาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า โดยคืนผลประหยัดไฟฟ้าที่ลดได้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า และมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มในส่วนของผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ส่วนลดค่าไฟ คูปองลดราคาก๊าซแอลพีจี เอ็นจีวี ก็เป็นมาตรการที่ควรนำมาพิจารณาเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจได้สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันค่าไฟฟ้าและพลังงานคิดเป็นสัดส่วนต่อต้นทุนการผลิต โดยเฉลี่ยภาพรวม 20-30% ขณะที่แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมีการใช้ไฟฟ้าและพลังงาน ปี 65 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 64 ต่อเนื่องจากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะส่งออก

เมื่อถามถึงความเห็นภาคอุตสาหกรรมควรเตรียมรับมือผลกระทบในเรื่องนี้อย่างไร พบว่า ส่วนใหญ่เน้นการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน หันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงาน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มากขึ้น รวมไปถึงการนำระบบบริหารจัดการพลังงานมาใช้และปรับแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุนและการบำรุงรักษา และปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร