สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา และกลุ่มประมงพื้นบ้านเจ้าหลาว ร่วมดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชน ที่สะพานปลาสุดขอบฟ้า หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน และเยาวชนในพื้นที่ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยภารกิจครั้งนี้ ได้เยาวชนในพื้นที่จาก รร.ท่าใหม่ “พูลสวัสดิ์ราษฎร์นุกูล” มาร่วมกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลกว่า 20,000 ต้น เพื่อฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่หญ้าทะเล ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ เพราะหญ้าทะเลเป็นสะพานเชื่อมระหว่างระบบนิเวศชายฝั่งกับระบบนิเวศทางทะเล ทั้งยังเป็นตัวบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล รวมทั้งเป็นที่หลบภัย วางไข่ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ รวมถึงการร่วมเพาะชำกล้าพันธุ์ไม้ป่าชายเลน 500 ต้น และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญต่อพื้นที่อย่างปลากะพงขาว 4,000 ตัว ซึ่งเป็นปลาน้ำกร่อยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม

โครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” เป็นหนึ่งในภารกิจของสิงห์อาสาที่ทำร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 12 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ในจังหวัดชายทะเลทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน สำหรับ จ.จันทบุรี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกของอ่าวไทย มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การทำลายบุกรุกถือครองพื้นที่ป่าชายเลน และปัญหาขยะทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงการเสื่อมโทรมของแนวปะการังและการลดจำนวนลงของแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นผลจากการทำกิจกรรมของต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การปล่อยน้ำเสีย การทำประมงที่ใช้เครื่องมือทำลายระบบนิเวศ รวมถึงมลพิษจากขยะ ผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

คุณอรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “กิจกรรมสิงห์อาสา อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับ 12 สถาบันการศึกษาทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับเยาวชนและชาวบ้าน สามารถช่วยกันดูแลชุมชน ดูแลสังคมโดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน”

ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เขตจันทบุรี กล่าวว่า “ ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลัก ๆ ของที่นี่คือ น้ำทิ้งที่มาจากบ้านเรือน มีขยะที่มาจากชุมชน และอาจมีเรือประมงเข้ามาจอดในพื้นที่ของหญ้าทะเล เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ก็เกิดความเสื่อมโทรมขึ้น เมื่อมีน้ำทิ้ง มีขยะจากบ้านเรือนเข้ามาในทะเลมาก ๆ ก็จะทำให้หญ้าทะเลค่อย ๆ หายไปในที่สุด หญ้าทะเลบริเวณนี้ทำให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เกิดขึ้น เป็นทั้งแหล่งอนุบาล แหล่งฟักไข่ วางไข่ และยังผลิตทรัพยากรประมงออกมาด้วย การที่เราค่อย ๆ ปลูกหญ้าทะเลเพิ่มขึ้น จะช่วยในการฟื้นฟู ช่วยขยายพื้นที่แบบค่อยเป็นค่อยไป อีกอย่างคือเรื่องความรู้และจิตสำนึกที่ส่งไปยังคนร่วมโครงการสิงห์อาสาในวันนี้ ก็จะสะท้อนกลับไปเมื่อเขากลับบ้านไปบอกต่อพ่อแม่ ไปโรงเรียนไปเล่าให้เพื่อนฟัง”

คุณดวงทิพย์ญามน ชักชวนวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านเจ้าหลาวหัวแหลม ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า “ชุมชนเรามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยการปลูกหญ้าทะเลและเก็บขยะบริเวณชายหาด โดยเราจะนัดกันทุก ๆ 1 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน เพราะที่นี่เป็นบ้าน เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนในชุมชน มีสัตว์ทะเลสำหรับหาเลี้ยงชีพ แต่ปัจจุบันลดน้อยลง เราจึงมองถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการพูดคุยกับชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งพวกเขาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สำหรับโครงการของสิงห์อาสาที่มาปลูกหญ้าทะเล และจะทำอย่างต่อเนื่องร่วมกับชุมชน ถือว่ามีประโยชน์มาก เราดีใจ เพราะในอนาคตเราอาจได้เห็นครอบครัวพะยูน พ่อ แม่ ลูก ว่ายน้ำมากินหญ้าทะเลที่หน้าบ้านก็ได้ แม้ว่าตอนนี้มันจะเริ่มลดน้อยถอยลง 3-4 ปีเห็นแค่ครั้งเดียว แต่หลังจากนี้ เราก็อยากให้เขากลับมาอีกครั้ง”

ทั้งนี้ “สิงห์อาสา” มีภารกิจเพื่อดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ โดยในปีนี้มุ่งเน้นที่การดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งดูแลป่าต้นน้ำในเขตจังหวัดภาคเหนือ การดูแลแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในจังหวัดภาคอีสาน และการดูแลสายน้ำในจังหวัดภาคกลาง รวมถึงภารกิจสร้างความยั่งยืนให้ทะเลไทยทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้