น.ส.ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด โกโกลุค ประเทศไทย ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นฮูส์คอล (Whoscall) เปิดเผยว่า  รายงานข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการโทรฯ และข้อความหลอกลวงทาง เอสเอ็มเอสทั่วโลกและประเทศไทย พบว่า ปี 2564 จำนวนการโทรฯ และข้อความหลอกลวงทั่วโลกมีจำนวนถึง 460 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 58% จากปีที่แล้ว ส่วนในประเทศไทย  มีการใช้โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงในประเทศไทยมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นถึง 270% จากปีก่อนหน้า ส่วนข้อความ เอสเอ็มเอส หลอกลวงยังเพิ่มขึ้นถึง 57% โดยวิธีที่พบบ่อยนักต้มตุ๋นจะส่งลิงก์ฟิชชิ่งหลอก เชิญชวน ให้ดาวน์โหลดแอพที่เป็นอันตรายและหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไป ซึ่งการหลอกลวงลักษณะนี้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

 “การหลอกลวงด้วยวิธีการส่งข้อความมีต้นทุนที่ต่ำ ประกอบกับการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือเหยื่ออยู่ในอัตราสูง ทำให้จำนวนข้อความหลอกลวงเพิ่มขึ้นทุก ๆ เดือน ตั้งแต่ปี 63 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 64 โดยข้อความเอสเอ็มเอส หลอกลวงในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 57% ซึ่งข้อความเหล่านี้อาจนำไปสู่การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือการสูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเมื่อมีเบอร์แปลกโทรฯ หรือส่งข้อความเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากลุ่มดังกล่าวมีการขอข้อมูลส่วนตัว”

น.ส.ฐิตินันท์ กล่าวต่อว่า  ในช่วงปี 64 การโทรฯ หลอกลวงมีความแนบเนียนมากขึ้นและมีความถี่สูงขึ้น สายมิจฉาชีพจาก แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น การโทรฯ ที่อ้างว่ามาจากคอลเซ็นเตอร์บริการจัดส่งสินค้า ซึ่งเริ่มรุนแรงมาตั้งแต่เดือนเมษายน 64 จนถึง ในช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม และจากการหลอกลวงดังกล่าวส่งผลให้เหยื่อสูญเสียเงินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท นอกจากนี้การฉ้อโกงอีกแบบหนึ่งที่ได้รับการรายงานจากผู้ใช้ ฮูส์คอล คือ การโทรศัพท์ที่อ้างว่ามาจากตำรวจ โดยกล่าวหาว่าผู้ใช้มีส่วนร่วมในอาชญากรรม เช่น การฟอกเงิน เป็นต้น อุบัติการณ์การหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นในไทย สะท้อนถึงสถานการณ์ในกระแสโลก ที่มีนักต้มตุ๋นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างใช้กลวิธีที่หลากหลาย อาทิ ไต้หวัน ได้รับผลกระทบจากการหลอกลวงด้านการลงทุนในหุ้น เนื่องมาจากตลาดหุ้นที่เฟื่องฟู ขณะที่ในฮ่องกง มาเลเซีย และเกาหลี มีผู้หลอกลวงโดยการปลอมตัวเป็นอัยการ ในญี่ปุ่น พนักงานบริษัทไฟฟ้าปลอมได้ทำการ โทรศัพท์หลอกลวง เพื่อเรียกเก็บค่าบริการบำรุงรักษาสำหรับผู้บริโภค ฯลฯ

ทั้งนี้ Whoscall เป็นเหมือนผู้ช่วยให้คัดกรองเบอร์เบื้องต้น รู้ทันถึงที่มาของผู้ส่งและสายโทรฯ เข้าที่ไม่รู้จัก Community Report หรือ การรายงานเพื่อระบุหมายเลขโทรศัพท์หลอกลวงจากผู้ใช้ Whoscall เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถือเป็นการช่วยกันของคนไทยเพื่อเสริมเกราะป้องกันภัยจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี รวมถึงช่วยปกป้องคนที่คุณรัก และสังคมไทยให้พ้นจากการถูกหลอกลวง