“เมื่อเด็กพ้นออกจากรั้วโรงเรียน สิ่งที่เด็กต้องเผชิญคือช่วงเวลาที่เรียกว่า 3 เดือนอันตราย!!! ซึ่งจะส่งผลทำให้เส้นทางชีวิตของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเด็กส่วนหนึ่งอาจจะเบี่ยงเข้าสู่วังวนยาเสพติดหรือวงจรอาชญากรรม แล้วก็วนเวียนวนเข้าออกสถานพินิจจนถึงวัยผู้ใหญ่” …เป็นการระบุไว้โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ถึง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของ “เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา” ซึ่งในช่วงนี้…

ถูกเปรียบเทียบไว้ว่าเป็น “ช่วง 3 เดือนอันตราย”…

ถ้าเด็กกลุ่มนี้ “ไม่ได้รับความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน”

ก็ “จะยิ่งสุ่มเสี่ยงหลุดเข้าสู่วงจรสีเทา-วงจรสีดำมืด”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

เกี่ยวกับการ “แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา” นั้น วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมสะท้อนต่อ โดยมีข้อมูลจากบทความ “ยะลาโมเดลผลักดันห้องเรียนฉุกเฉิน ถ้าเด็กพร้อมต้องพากลับมาทันที” ที่ได้รับการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ www.eef.or.th ของ กสศ. เพื่อจะฉายภาพให้สังคมไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้เห็น-ได้หันมาให้ความสนใจร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ เพื่อ “ดึงเด็กกลับสู่ระบบ” ก่อนที่เด็กกลุ่มนี้จะหลุดเข้าไปอยู่ในวงจรชีวิตที่ผิด ๆ “ก่อนจะหลงเข้าสู่วงจรยาเสพติดและอาชญากรรม” โดยหนึ่งในแนวทางให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ อีกแนวทางเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหานั้น…

กรณีนี้มี “โมเดลที่น่าสนใจ” จาก “พื้นที่ จ.ยะลา”

ที่ชื่อ “ห้องเรียนฉุกเฉิน (Emergency Classroom)”

สำหรับรายละเอียด “โมเดลห้องเรียนฉุกเฉิน” นั้น ในบทความดังกล่าว ทาง รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ได้ระบุไว้ว่า… ประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่ 3 ปี พบว่า… แค่เด็กออกจากรั้วโรงเรียนไป 1 เดือนก็ถือเป็นเรื่อง
อันตรายแล้ว!!
ดังนั้น โจทย์การทำงานเกี่ยวกับ “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา” ต้องทำควบคู่ ระหว่างการให้ความช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกมาให้ได้กลับเข้าเรียนหรือฝึกทักษะอาชีพ แล้วก็ต้องมีแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้มีเด็กหลุดออกมาเพิ่มอีก โดยมาตรการ Emergency Classroom ห้องเรียนฉุกเฉิน นับเป็นอีกหนึ่งในแนวทาง…

ช่วยรองรับเด็กให้กลับเข้าโรงเรียนได้ทุกช่วงเวลา

เพื่อมิให้เด็กถอยห่างไปจากบรรยากาศการเรียนรู้

รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข

ทั้งนี้ ทางรองปลัด อบจ.ยะลา บอกเล่าไว้ถึงการทำงานเพื่อช่วยเด็กในพื้นที่นี้ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาว่า… สำหรับโครงการดังกล่าวได้เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ในพื้นที่นำร่องของ 4 อำเภอ ของพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งพื้นที่นี้มีเด็กที่มีแนวโน้มหลุดจากระบบการศึกษารวมแล้วกว่า 2,800 คน และมีเด็กราว 1,000 คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจำเป็นจะต้องมีแนวทางให้ความช่วยเหลือ จึงเป็น “ที่มา” ของการนำเอา “โมเดลห้องเรียนฉุกเฉิน” มาใช้

ส่วน “สาเหตุ” ที่ทำให้เด็กในพื้นที่นี้ “หลุดจากระบบการศึกษา” นั้น พบว่า… ส่วนใหญ่มาจาก ปัญหาปากท้อง ที่เป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ต้องออกไปหารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว ขณะที่อีกหนึ่งสาเหตุเกิดจาก ปัญหาเชิงพฤติกรรม จากการที่เด็กเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ รองปลัด อบจ.ยะลา บอกไว้อีกว่า… ยะลาถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัญหาตั้งแต่ก่อนที่จะมีวิกฤติโควิด-19 และเมื่อมีวิกฤติโรคระบาดเกิดขึ้น กรณีนี้ก็ยิ่งตอกย้ำทำให้ปัญหาดังกล่าวยิ่งรุนแรงมากขึ้น จนยิ่งผลักให้เด็กหลุดออกจากห้องเรียนและโรงเรียน

และก่อนหน้าที่จะมีการนำเอา “โมเดลห้องเรียนฉุกเฉิน” มาใช้ช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ก่อนหน้านี้แม้จะมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือออกมา แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลมากนัก โดยหลังจากได้นำปัญหานี้มาวิเคราะห์ ทำให้พบว่า… การพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยไม่มีแผนรองรับที่เหมาะสม หรือการนำแนวทางที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเด็กมาใช้ ไม่เพียงจะใช้ไม่ได้ผล แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดจากระบบอีกด้วย จนเป็นที่มาในการนำโมเดล “ห้องเรียนฉุกเฉิน” มาใช้ เพราะมี “ข้อดี” คือ สัมพันธ์กับวิถีชีวิตเด็ก และเป็นวิธีที่ รองรับเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ทุกเวลา ด้วย

“การที่ช่วยเด็กให้กลับมาเรียนแล้ว แต่สุดท้ายก็ไปได้ไม่สุดทางนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย จึงต้องมีทีมหนุนการทำงานในลักษณะคล้ายห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เพื่อส่งเด็กให้ถึงมือครู ที่เปรียบได้กับคนที่เป็นหมอเฉพาะทาง” …เป็นการเปรียบเทียบไว้ถึงความคล้ายคลึงระหว่าง “ห้องเรียนฉุกเฉิน” กับ “ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล”

ทั้งนี้ ทางรองปลัด อบจ.ยะลา ยังย้ำถึง “โมเดลห้องเรียนฉุกเฉิน” ไว้ว่า… โมเดลนี้จะใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผลอยู่ที่ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ซึ่งต้องมองเห็นเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน เพราะ ปัญหาของเด็กคนหนึ่งไม่สามารถแก้ได้ด้วยโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว แต่โยงใยถึงทุก ๆ หน่วยงาน ดังนั้น การแก้ปัญหานี้จะสัมฤทธิผลได้ หน่วยงานก็จะต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ห้องเรียนฉุกเฉินในพื้นที่ จ.ยะลา ทำได้สำเร็จนั้น ก็เป็นเพราะ “มีต้นทุนที่ดี” คือในเรื่อง “การทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ” …นี่คืออีก “คีย์ซัคเซส” ของ “โมเดลช่วยเด็กหลุดระบบการศึกษา”

“คีย์ซัคเซส” เหล่านี้ “ป้องกันเด็กหลงสู่วงจรผิด ๆ” 

น่าขยายผล เพื่อ แก้ปัญหาเด็กหลุดห้องเรียน”

กับอีกหลายพื้นที่” ที่ยุคนี้ยิ่ง มีปัญหามาก!!!” .