เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่สนใจเข้าร่วม

นายพิเชฐ กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนทางราง หรือรถไฟฟ้า เป็นทางเลือกสำคัญในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วกว่า 211.94 กิโลเมตร (กม.) และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 112.20 กม. จากโครงข่ายทั้งหมด 14 เส้นทาง 553.41 กม. ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ M-MAP ตั้งแต่ปี 53 จึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแผนแม่บทรถไฟฟ้าให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารในอนาคต

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้ ขร. ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว เพื่อต่อยอดแผนแม่บท M-MAP เดิมให้มีความครอบคลุมมากขึ้น และสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองในอนาคต สำหรับโครงการดังกล่าว มีกระบวนการศึกษาใช้ระยะเวลา 18 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค.66 มีขอบเขตการดำเนินงาน 5 ส่วน ได้แก่ 1.การรวบรวม ศึกษาและทบทวนข้อมูล ปริมาณผู้โดยสาร รูปแบบโครงการ แนวเส้นทาง ตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้า มูลค่าการลงทุน รวมทั้งสถานะของโครงการรถไฟฟ้าในปัจจุบัน และโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

2.การวางแผนเพื่อพัฒนาแผนแม่บทโครงข่าย M-MAP2 3.การดำเนินการสนับสนุนทางวิชาการแก่กรมการขนส่งทางราง 4.การพัฒนาแบบจําลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) และ 5.การประชาสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อย่างไรก็ตามสำหรับหัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ แนวคิดการพัฒนา “แบบจําลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง” (Railway Demand Forecast Model) เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายในแต่ละเส้นทางสอดคล้องกับรูปแบบการขยายตัวและการพัฒนาของเมืองในปัจจุบัน

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้เพื่อให้ M-MAP 2 เป็นแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนในโครงข่ายที่มีความจำเป็นในลำดับรองให้สอดคล้องความต้องการในการเดินทางของประชาชนและทิศทางการพัฒนาในอนาคต และเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก ตรงตามความต้องการ รวดเร็ว ประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย และเวลาให้กับประชาชน.