นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯได้ตระหนักถึงสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพของประชาชน ในขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากวิกฤตโควิด-19 สมาคมฯ และภาคีเครือข่าย จึงเริ่มตรึงราคาในหมวดสินค้าจำเป็น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 จากนั้นในเดือนมกราคม 2565 จึงขยายสู่หมวดอาหารสด เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ ตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์รายใหญ่กว่า 30 ราย เพื่อตรึงราคาให้ครอบคลุมสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันกว่า 500 รายการ จนถึงจบไตรมาสที่หนึ่งของปี 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด สมาคมฯ จึงขอร่วมมือกับภาครัฐนำเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชน ให้ฝ่าวิกฤตค่าครองชีพสูงนี้ไปให้ได้
“ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาที่เกิดจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทุกคน และทุกระดับ โดยเฉพาะ ผู้ที่มีรายได้น้อยที่เจอผลกระทบ 2 เด้ง ทั้งในเรื่องของค่าครองชีพสูงขึ้น และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 การตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุด”
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2564 สมาคมฯ และภาคีเครือข่าย ได้พยายามช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ การจัดสรรสินค้าคุณภาพดีให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง และทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิดในการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงสมาชิกและภาคีเครือข่ายของสมาคมฯ ยังคงรักษาอัตราการจ้างงานที่มีจำนวนกว่า 1.1 ล้านอัตราให้คงเดิม ซึ่งในการประชุมครั้งล่าสุดของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคณะกรรมการฯ ยังคงยืนยันที่จะพยายามตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากต้องประเมินเป็นรายไตรมาส โดยเฉพาะราคาพลังงานและอาหารสดซึ่งเป็นปัจจัยหลักของปัญหาค่าครองชีพของประชาชนในขณะนี้สมาคมฯ ยังเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ภาครัฐเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยจูงใจให้คนไทยออกมาจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น ถือเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเศรษฐกิจภาพรวม นอกจากนี้ อีกโครงการหนึ่งที่มาได้ทันเวลาคือ “ช้อปดีมีคืน” ที่เป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยจากผู้ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ เป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด ในระยะเวลาอันสั้น และใช้งบประมาณน้อยที่สุด แม้ว่าในช่วงเวลาที่เริ่มต้นโครงการ “ช้อปดีมีคืน” นั้น เป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโอมิครอนทำให้มู้ดในการจับจ่ายใช้สอยไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ถือว่ายอดขายเติบโตได้ขนาดนี้ก็เป็นที่น่าพอใจทั้ง 2 โครงการนี้ ถือเป็นการนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ไทยสามารถดำรง สภาพคล่องและคงการจ้างงานไว้ได้
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงขอนำเสนอมาตรการเพื่อที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในภาวะที่ค่าครองชีพสูงและเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ดังนี้
มาตรการในส่วนของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และซัพพลายเออร์ในภาคีเครือข่าย
1. ตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ซึ่งสมาคมฯ และซัพพลายเออร์ในภาคีเครือข่ายยืนยันที่จะตรึงราคาสินค้าฯ จนถึงจบไตรมาสที่หนึ่งของปี 2565 ทั้งนี้ นโยบายการตรึงราคาจะมีการประเมินเป็นรายไตรมาส
2. เตรียมสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นให้กับประชาชน สมาคมฯ ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
3. ช่วยฟื้นฟู SMEs ไทย สมาคมฯ และภาคีเครือข่ายจะเร่งขยายในเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุน ให้ SMEs ไทยผ่านโครงการ Digital Supplychain Finance ของธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งการขยายและเพิ่มช่องทางการขายให้กับ SMEs เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังคงยืนยันที่จะพยุงการจ้างงานในระบบค้าปลีกให้ อยู่ที่ 1.1 ล้านอัตรา
มาตรการในส่วนของภาครัฐ
1. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่มีวงเงินงบประมาณถึง 3.1 ล้านล้านบาท ให้มีการอนุมัติและดำเนินการเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว
2. การพยุงราคาพลังงานให้คงที่ โดยการใช้ทุกมาตรการเพื่อพยุงราคาพลังงานให้นานที่สุด ถึงแม้รัฐบาลได้มีมาตรการพยุงราคาน้ำมันปรับลดภาษีอัตราน้ำมันดีเซลสรรพสามิตและน้ำมันอื่นๆ 3 บาท ต่อลิตรเป็นระยะเวลา 3 เดือนแล้ว อาจจะยังไม่เพียงพอ จึงควรพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง ซึ่งค่าขนส่งถือว่ามีสัดส่วนถึง 8-10% ของต้นทุนสินค้า
3. กระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน โดยคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ
“คนละครึ่ง” และ โครงการ “ช้อปดีมีคืน” ที่ภาครัฐดำเนินการได้ดีอยู่แล้วในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และเพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบจากผู้ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ ขอให้ภาครัฐพิจารณาโครงการ “ช้อปดีมีคืน” เฟสสองเพิ่มเติม และให้ยืดทั้งระยะเวลาโครงการ รวมถึงวงเงินที่สามารถใช้จ่าย โดยเพิ่มจาก 30,000 บาท เป็น 100,000 บาท ทั้ง 2 โครงการจะเป็นการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ (Local Consumption) ถือเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ไทย ให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ต่อไป
“สมาคมฯ และภาคีเครือข่าย ขอยืนยันที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือ และลดภาระค่าครองชีพของประชาชนซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างเร็วที่สุด สมาคมฯ พร้อมที่จะเร่งผลักดันและใช้ทุกสรรพกำลังของภาคีเครือข่ายในการให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง การร่วมแรงร่วมใจกันครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต้องหยุดชะงัก และประเทศไทยของเราจะได้กลับมาแข็งแรงกว่าเดิม”