น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 ปี 64 เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด โดยอัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 63 โดยเฉพาะจ้างงานภาคเกษตรกรรม เพราะเลื่อนการเพาะปลูกมาจากไตรมาส 3 หลังน้ำท่วม ทำให้การจ้างงานปี 64 มี 37.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2%
โดยแนวโน้มตลาดแรงงานในปี 65 ต้องติดตามค่าครองชีพของประชาชน เพราะที่ผ่านมาราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 64 ส่งผลให้แรงงานมีภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะอาจมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ทั้งนี้ต้องติดตามราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ และต้องดูว่าจะมีมาตรการอะไรมาช่วยดูแลกลุ่มนี้ จากปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการคนละครึ่งซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน และอยู่ระหว่างพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเหมาะสมจะช่วยลดปัญหาค่าครองชีพได้อีกทางหนึ่ง
ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะหรือการปรับเปลี่ยนทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาและผู้ว่างงานระยะยาวที่ยังมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง รวมทั้งแรงงานคืนถิ่น เพื่อให้แรงงานสามารถยกระดับหรือปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและท้องถิ่น
นอกจากนี้ต้องติดตามมาตรการเศรษฐกิจเอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมการระบาด ต้องเน้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเอื้อให้เอสเอ็มอีฟื้นตัวที่มีการจ้างงานมากกว่า 12.8 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด รวมทั้งการสร้างงานในระดับชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในระดับพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้แรงงานไทยทักษะสูงทำงานในต่างประเทศกลับมาทำงานในไทย และนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะสูง เพื่อชดเชยการขาดแคลนแรงงาน จึงต้องมีมาตรการจูงใจให้แรงงานกลุ่มนี้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนเพื่อให้มีหลักประกันที่มั่นคง
ขณะที่หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 64 ขยายตัวชะลอลง คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ต้องเฝ้าระวังการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 64 หนี้สินครัวเรือน 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% ชะลอลงจาก 5.1% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นการชะลอลงในทุกประเภทสินเชื่อ โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี อยู่ที่ 89.3% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากภาครัฐ
อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาจากครัวเรือนรายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม, สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการแอลทีวี และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ต้องเร่งมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ ควบคู่กับการเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน หลังจากมีมาตรการลูกหนี้แต่ส่วนใหญ่เป็นการให้ความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ แต่แบงก์รัฐยังมีแค่การขยายระยะเวลา การพักชำระหนี้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนมีภาระหนี้มากเกินไป และการส่งเสริมให้ครัวเรือนได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน