เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขร. ได้จัดการประชุมกลุ่มย่อย (Working Group) ครั้งที่ 2 ตามกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โครงการศึกษาการพัฒนาระบบกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อร่างระเบียบ ร่างข้อบังคับ และข้อเสนอแนะ รวมถึงมาตรการกำกับดูแลด้านความปลอดภัย ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทาง และการขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมการค้า เข้าร่วมการประชุม

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคง แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 กระบวนการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคง ประกอบด้วย 1.การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ 2.การออกแบบขั้นต้นและกำหนดคุณสมบัติ 3.การออกแบบรายละเอียดและการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ 4.การจัดหา การก่อสร้าง การผลิต การติดตั้ง 5.การทดสอบและการเตรียมพร้อมใช้งาน 6.การฝึกอบรม 7.การดำเนินงานและการบำรุงรักษา และ 8.การกำจัดวัสดุอุปกรณ์ที่หมดอายุการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย

ส่วนที่ 2 จัดทำแผนพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคง แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1.แผนพัฒนาระยะเร่งด่วน (1 ปี) ได้แก่ จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาระบบกำกับดูแล และรับรองความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง รวมทั้งจัดทำข้อกำหนด (Regulations) มาตรฐาน (Standards) แนวทางและคู่มือ (Guidelines & Manuals) และแผนแม่บท 2.แผนพัฒนาระยะกลาง (5 ปี) ได้แก่ 1. ปรับปรุงมาตรฐานด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางรางเพิ่มเติม 2. ตรากฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง 3. กำหนดกลไกเพื่อการบริหารจัดการ กำกับดูแลตรวจสอบ โครงการระบบรางของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน การพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า 3.แผนพัฒนาระยะยาว (10 ปี) ได้แก่ 1. ยกระดับระบบความปลอดภัยของการขนส่งทางรางให้มีความน่าเชื่อถือได้ในระดับสากล 2. พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง เพื่อรองรับการเชื่อมโยง และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบคมนาคมในระดับภูมิภาคอาเซียน และในระดับสากล

ด้านนายทยากร จันทรางศุ รักษาการผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง ขร. กล่าวว่า โครงการฯ ได้รวบรวม และศึกษาเชิงเปรียบเทียบกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการขนส่งทางราง ทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านขบวนรถขนส่งทางราง ด้านการจัดการเดินรถและการให้บริการ ด้านการควบคุมการเดินรถขนส่งทางราง และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาจัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยการขนส่งทางราง พ.ศ. …. แบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 คำจำกัดความ หมวดที่ 2 บททั่วไป หมวดที่ 3 มาตรฐานว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งทางราง จะเป็นการกำหนดข้อกำหนด เงื่อนไขต่างๆ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้มาตรฐานแนะนำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการขนส่งทางราง และหมวดที่ 4 บทเฉพาะกาล จะกำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎกระทรวง ตลอดถึงมาตรฐานต่างๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ทั้งนี้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวยังเป็นเพียงฉบับร่าง จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขอีกและผ่านความเห็นชอบก่อนที่จะมีการดำเนินการ เพื่อจัดทำกฎหมายตามขั้นตอนในการจัดทำร่างกฎหมายต่อไป.