เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงผลการดำเนินงาน ประจำปี 64 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 15,712 หรือ 44.4% มีรายได้รวม 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท หรือ 51% โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นรายได้ 81,525 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ อาทิ ปรับโครงสร้างหนี้ ขายทรัพย์สิน และเงินลงทุน ปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 จำนวน 55,113 ล้านบาท
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงปลายปี 64 สถานการณ์การบินเริ่มดีขึ้น ประเทศในแถบยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศ ประกอบกับรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 ทำให้บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากวันละ 311 คนในเดือน ต.ค.64 เป็น 1,067 และ 2,559 คน ในเดือน พ.ย. และ ธ.ค.64 ตามลำดับ แต่เมื่อรัฐบาลยกเลิกมาตรการ Test and Go เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนทวีความรุนแรง ทำให้ผู้โดยสารในเดือน ม.ค.-ก.พ.65 ลดลงจากเดือน ธ.ค. ประมาณ 20%
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อภาครัฐนำมาตรการ Test and Go กลับมาใช้อีกครั้ง ผู้โดยสารก็กลับมาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันประเทศปลายทาง อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง จึงทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้น บริษัทฯ จึงเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่างๆ อาทิ ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ และมีแผนเปิดให้บริการสู่จุดหมายปลายทางใหม่เพิ่มเติม อาทิ เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และ โกลกาตา ประเทศอินเดีย โดยจะเริ่มไตรมาสที่ 2 ปี 65
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งให้บริการเส้นทางภายในประเทศ มีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นเช่นกันจาก 2,623 คนต่อวัน ในเดือน ก.ย.64 เป็น 9,536 คนต่อวัน ในเดือน ธ.ค.64 ทั้งนี้แม้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก แต่ผู้โดยสารของการบินไทย และไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับเพียง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯ สามารถให้บริการตามปกติ สำหรับเรื่องรายได้ของบริษัทฯ นั้น ก่อนเกิดโควิด-19 รายได้หลักจะอยู่ที่ผู้โดยสารประมาณ 80% แต่เมื่อเกิดโควิด-19 รายได้หลักมาจากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์และบริการคลังสินค้า โดยมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง สร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท หรือเกือบ 50% ของรายได้รวมของบริษัทฯ ในปี 64
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างจัดหาสินเชื่อใหม่วงเงิน 25,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูฯ ในปี 65 คาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ในเดือน มี.ค.นี้ พร้อมกันนี้ต้องมีการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนอีก 25,000 ล้านบาทตามแผน โดยต้องปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น และคาดว่าบริษัทฯ จะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้เร็วกว่ากำหนด 5 ปีตามแผน ทั้งนี้ในส่วนของการปรับโครงสร้างทุน กระทรวงการคลังแจ้งว่า ภาครัฐจะยังคงถือหุ้น 40%
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาทนั้น บริษัทฯ จะนำมาใช้สำหรับรายจ่ายที่จำเป็นต้องใช้จ่าย อาทิ การจ่ายเงินชดเชยพนักงานที่ออกไปประมาณ 4,000 ล้านบาท และการคืนเงินค่าตั๋วโดยสารอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท รวมทั้งจะนำไปใช้เป็นเงินค้ำประกัน และเครดิตไลน์จัดซื้อน้ำมันอากาศยาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับแนวโน้มธุรกิจหลังจากนี้ ต้องรอให้ประเทศในแถบเอเชียผ่อนคลายมาตรการการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพราะเป็นผู้โดยสารหลักของการบินไทย หวังว่าปลายปีนี้เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จะเปิดประเทศ
ด้านนายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ เหลือพนักงานประมาณ 14,000 คน จากก่อนหน้านี้มีพนักงานประมาณ 30,000 คน ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ดังนั้นยังไม่มีแผนปลดพนักงานอีก ส่วนฝูงบินที่ให้บริการ มี 58 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777 จำนวน 14 ลำ โบอิ้ง 787 จำนวน 8 ลำ แอร์บัส 350 จำนวน 12 ลำ แอร์บัส 320 จำนวน 20 ลำ โบอิ้ง 777-200 ER จำนวน 4 ลำ และในเดือน มี.ค.-เม.ย. 65 จะรับมอบเครื่องบินใหม่ โบอิ้ง 777-300 ER จำนวน 3 ลำ ซึ่งสั่งซื้อมาก่อนเข้าแผนฟื้นฟูฯ จึงจะทำให้มีฝูงบินรวม 61 ลำ