ย้อนกลับไปเมื่อปี 2481 เยอรมนีซึ่งในเวลานั้นคือ “อาณาจักรไรช์ที่สาม” ภายใต้การปกครองของนายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลี ลงนามร่วมกันในข้อตกลงมิวนิก ว่าด้วยการยอมรับ ให้เยอรมนีผนวกดินแดนส่วนที่เรียกว่า “ซูดเอเทินลันด์” ( Sudetenland ) ซึ่งหมายถึงพื้นที่ทางเหนือ ทางใต้ และทางตะวันตกของเชคโกสโลวาเกีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในบริเวณนั้นมีเชื้อสายเยอรมัน และสื่อสารโดยใช้ภาษาเยอรมัน

นายเนวิลล์ แชมเบอร์เลน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ถือเอกสารข้อตกลงมิวนิก

นายเนวิลล์ แชมเบอร์เลน ผู้นำสหราชอาณาจักรในเวลานั้น และบรรดาประเทศที่ร่วมลงนาม โดยเฉพาะฝรั่งเศส ให้คำมั่นจะช่วยเหลือเชคโกสโลวาเกีย เพื่อชดเชยกับการต้องสูญเสียดินแดน และไม่มีส่วนร่วมกับการเจรจาครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นเพียงเพราะกลุ่มมหาอำนาจไม่ประสงค์ทำสงครามกับเยอรมนีอีก โดยแชมเบอร์เลนถึงขั้นการันตี ว่า “โลกจะมีสันติภาพอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพนาซีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ เดินหน้าผนวกเชคโกสโลวาเกียทั้งหมดภายในอีก 1 ปีต่อมา ตามด้วยการผนวกเมืองไคลเพดา หรือเมเมิล ของลิทัวเนีย โดยที่ไม่มีมหาอำนาจประเทศใด “กล้าออกหน้า” จากการที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีความเป็นเอกภาพร่วมกันอย่างแท้จริงอยู่แล้ว

Council on Foreign Relations

ฮิตเลอร์จึงดำเนินการต่อไป เดินหน้าสู่การพยายามผนวกเมืองกดานสค์ หรือที่เรียกเป็นภาษาเยอรมัน ว่าเมืองดานซิก กลับคืนจากโปแลนด์ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นเส้นทางเชื่อมสู่ภูมิภาคปรัสเซียตะวันออก ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ มุ่งสู่ภูมิภาคตะวันออกของอาณาจักรปรัสเซีย แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จตามแผน ฮิตเลอร์และกองทัพนาซีจึงตัดสินใจใช้มาตรการทางทหารเพื่อกดดัน สร้างความไม่พอใจให้กับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ซึ่งมี “ผลประโยชน์หลายเรื่อง” ในเมืองกดานสค์ นำไปสู่การประกาศสงครามกับเยอรมนี ซึ่งหนึ่งในเหตุผลหลัก คือเพื่อปกป้อง “ผลประโยชน์” ของตัวเอง ในเมืองกดานสค์

หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ชาวโลกมีความเชื่อมั่นและความคาดหวัง ว่าโลกจะไม่เผชิญกับการสู้รบในแบบที่ทหารของประเทศหนึ่ง เคลื่อนย้ายกำลังพลข้ามพรมแดนไปยังอีกประเทศหนึ่ง “ในระดับที่ใหญ่ขนาดนี้อีก” จนกระทั่งความขัดแย้งปะทุขึ้นที่ภูมิภาคดอนบาส ในภาคตะวันออกของยูเครน เมื่อเดือนเม.ย.ปี 2557

เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในภูมิภาคดอนบาส ยุโรปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการขับเคลื่อนกระบวนการตามแนวทางการทูต การเจรจาเกิดขึ้นที่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส นำไปสู่การลงนามในข้อตกลงมินสก์ฉบับดั้งเดิม เมื่อเดือนก.ย.ปีเดียวกัน โดยผู้ที่ลงนามในข้อตกลงฉบับแรก คือองค์การความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ( โอเอสซีอี ) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเครน ผู้แทนกองกำลังในภูมิภาคดอนบาส และนายเลโอนิด คุชมา อดีตประธานาธิบดียูเครน

FRANCE 24 English

หลังจากนั้นมีการปรับปรุงข้อตกลงตามมาอีกหลายฉบับ และการประชุมระดับผู้นำหลายต่อหลายครั้ง ระหว่าง เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส ในฐานะประเทศซึ่งเป็นสถานที่ลงนาม อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงมินสก์แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากไม่มีฝ่ายใด “ให้ความสำคัญ” ถึงขั้นที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้

ท่าทีของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต่อเมืองกดานสค์ “แตกต่างอย่างสิ้นเชิง” เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเชคโกสโลวาเกีย “ซึ่งมีผลประโยชน์น้อยกว่า” เรื่องราวแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 84 ปีที่แล้ว กำลังวนกลับมาเกิดขึ้นกับยูเครนราวกับเป็น “เดจาวู” ความขัดแย้งในภูมิภาคดอนบาส ลุกลามบานปลาย กลายเป็นการที่รัสเซียปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ขัดแย้ง เพียงไม่กี่วันหลังรัฐบาลมอสโกให้การรับรองสถานะอิสระ แก่ “สาธารณรัฐโดเนตสก์” และ “สาธารณรัฐลูฮันสก์”

เป้าหมายของรัสเซียกับการรบครั้งนี้ชัดเจน นั่นคือต้องการให้ยังคงมี “รัฐกันชน” กั้นขวางระหว่างรัสเซียกับยุโรป เพื่อป้องปรามองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) จากการขยายอิทธิพลทางทหาร ให้ประชิดพรมแดนไปมากกว่านี้ รัฐบาลมอสโกประกาศเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งรวมถึงการที่ยูเครนต้องไม่เป็นสมาชิกนาโต เมื่อนาโตยืนยันว่า “ให้ไม่ได้” แม้ยังไม่พูดชัด ว่ายูเครนจะมีโอกาสได้เป็นสมาชิก หรืออย่างน้อยที่สุด จะได้ยื่นใบสมัครหรือไม่ แต่รัสเซียมองแล้วว่า ไม่เหลือทางเลือกอื่น นอกจาก “การสร้างแนวกันชนขึ้นมาเอง” นั่นคือภูมิภาคดอนบาส ซึ่งรัสเซียยังคงแสดงเจตจำนงไว้เพียงเท่านี้

หญิงคนหนึ่งถือธงชาติยูเครน ระหว่างร่วมชุมนุมแสดงจุดยืนต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย ที่นครนิวยอร์ก

สถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคดอนบาส และพื้นที่ส่วนอื่นของยูเครน ตลอดจน “อนาคต” ของยูเครนจะดำเนินไปในทิศทางใด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัสเซียเพียงฝ่ายเดียว แต่อยู่ที่ยูเครน และเหนือสิ่งอื่นใด “คือท่าทีและความปรารถนาที่แท้จริง” ของ “บรรดาผู้สนับสนุน” ของยูเครน

แม้จะต่างบริบท ต่างช่วงเวลา แต่ความล้มเหลวของข้อตกลงมิวนิก ซึ่งนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจว่าเมื่อข้อตกลงมินสก์ “เป็นเพียงเศษกระดาษไปแล้ว” บรรดาคู่กรณีทั้งหลายควรเร่งหาจุดยืนร่วมกันได้เร็วที่สุด เพื่อสันติภาพของประชาคมโลก และเพื่อไม่ให้ยูเครนต้องบอบช้ำไปมากกว่านี้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES