ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย!! หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการ กระจายเสียง ประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ ไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) บอกถึงที่มาที่ไปของการจัดประมูลคลื่นวิทยุของไทยว่า กิจการกระจายเสียง หรือวิทยุในไทยเดิมมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประกอบกิจการรายเดิม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอยู่ประมาณ 500 สถานี และ 2 .กลุ่มผู้ประกอบกิจการ ที่เป็นภาคเอกชน ที่เข้ามาประกอบธุรกิจภายหลังการมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเรียกว่า “กลุ่มทดลองประกอบกิจการ”

จนกระทั่งถึงปี 2551 จึงเข้าสู่กระบวนการที่มีกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เข้ามาบริหารจัดการ และได้มีการลงทะเบียนเพื่อให้มีการ “ทดลองออกอากาศเป็นการชั่วคราว” ซึ่งดำเนินการภายใต้ คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีสถานีเข้ามาลงทะเบียนเกือบ 9,000 สถานี

ทดลองประกอบกิจการ

จากนั้นปลายปี 2553 ได้มีการจัดตั้ง กสทช. เกิดขึ้น และมีคณะกรรมการด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ ก็ได้มีการออกกฎกติกาให้กลุ่มเหล่านี้ เข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า “การทดลองประกอบกิจการ” จนปัจจุบันเหลือ อยู่ประมาณ 5,000 สถานี ลดลงจาก 9,000 สถานี

สำหรับในกลุ่มผู้ประกอบการรายเดิมมีอยู่ประมาณ 500 สถานี ซึ่งตามกฎหมาย ได้มีบทเฉพาะกาลรองรับ และให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาในการประกอบกิจการและมีการเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่ง กสทช. ได้มีการออกแผนแม่บทบริหาร คลื่นความถี่ในปี 2555 กำหนดให้ผู้ที่เป็นผู้ประกอบกิจการรายเดิม แสดงเจตจำนงที่มีความจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ ในการให้บริการสาธารณะต่อไป

พ.อ.นที ศุกลรัตน์

ขณะเดียวกันให้มีการคืนคลื่น หลังแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่บังคับใช้เมื่อ 3 เม.ย. 2555 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 3 เม.ย. 2560 แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาได้มีคำสั่ง คสช.ขยายเวลาออกไป 5 ปี เพราะฉะนั้น กลุ่มผู้ประกอบการรายเดิม ที่เป็นสถานีเกือบ 500 สถานี ทั่วประเทศ  จึงดำรงอยู่ในแผนแม่บทฯ ที่ขยายเวลาออกไปอีก 5 ปี ตามคำสัง คสช.

แต่ก่อนที่ระยะเวลาจะครบกำหนดในวันที่ 3 เม.ย.65 ได้เกิดเหตุการณ์ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งว่า “การทดลองประกอบกิจการ” ไม่ถือว่าเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ตามกฎหมาย และเป็นการรอนสิทธิคนอื่น ที่จะเข้ามาประกอบกิจการ และการประกอบกิจการประเภทธุรกิจ ต้องมีการจัดสรรด้วยวีธีประมูล

ถูกเบรคต้องทำโรดแม็พ

ทำให้ กสทช. ต้องหาวิธีการเเพื่อให้สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดจึงได้จัดทำโรดแม็พ การเเปลี่ยนผ่านของการประกอบกิจการกระจายเสียง โดยในส่วนของผู้ประกอบกิจการทั้งหมดที่จะประกอบกิจการต่อ ต้องเข้าสู่ระบบใบอนุญาตตามกฎหมายภายในปี 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งศาลปกครอง

โดยมีเวลา 3 ปีก่อนที่ทุกอย่างจะยุติและผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายต้องสิ้นสุด การประกอบกิจการในปี 2567 ฉะนัั้น ผู้ที่ต้องการประกอบกิจการวิทยุทางธุรกิจ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการจัดสรรด้วยวิธี การประมูลตามที่กฎหมายกำหนด

ภาพ pixabay.com

ชุมชนต้องขอไลเซ่น

ส่วนผู้ประกอบการแบบบริการสาธารณะ และบริการชุมชน ก็ต้องขอรับใบอนุญาต ซึ่งทาง กสทช.ได้กำหนด แผนจัดสรรคลื่นความถี่ไว้สองแบบ แบบแรก คือ สถานีที่มีกำลังส่งสูง ก็จัดให้เป็นประเภทบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการรายเดิม และยังมีความจำเป็นที่ต้องประกอบกิจการต่อและได้แสดงเจตจำนงกับ กสทช. ซึ่งรวมถึงคลื่นที่กองทัพ และหน่วยงานรัฐอื่นๆถือครอง เช่น มหาวิทยาลัย ฯลฯ  ก็ได้ออกบทเฉพาะกาลของกฎหมาย ให้ได้มีการจัดสรรอนุญาต ให้กับผู้ประกอบการายเดิม จำนวน 2,285 คลื่นความถี่ ซึ่ง คณะกรรมการ กสทช. ได้มีมติไปแล้ว โดยมีระยะเวลาประกอบกิจการ 5 ปี อยู่ระหว่างกระบวนการรับใบอนุญาต จากสำนักงาน กสทช.

แบบที่ 2 คือ ส่วนที่ต้องประมูล เนื่องจากผู้ประกอบกิจการายเดิมไม่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อได้คืน คลื่นความถี่ทั้งระบบเอฟเอ็ม และเอเอ็ม เข้ามา ในส่วนเอฟเอ็ม ได้มีมติให้มีการประมูลเพื่อให้เอกชนได้เข้ามาขอรับอนุญาต โดยในการประมูลได้กำหนดเงื่อนไขว่าใครที่เป็นผู้ทดลองประกอบกิจการและต้องการประมูลคลื่นความถี่จะต้องเลิกการประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นการทดลองประกอบกิจการ

และส่วนที่ 3 คือ ผู้ประกอบกิจการที่เป็นการทดลองประกอบกิจการ ให้บริการวิทยุที่เป็นกำลังส่งต่ำ หรือวิทยุชุมชน ก็ได้ออกประกาศ กสทช. ให้สามารถที่จะเข้ามาขอใบอนุญาตจาก กสทช.ได้ ซึ่งอยู่ในกระบวนการ เชิญชวนให้มาขอใบอนุญาต

“สำหรับใบอนุญาตประเภทธุรกิจจะสามารถโฆษณา ได้ 10  นาที ต่อชั่วโมง สำหรับคลื่นสาธารณะ ตามกฎหมายไม่สามารถหารายได้ได้ ยกเว้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในลักษณะภาพลักษณ์องค์กร แต่ก็บางส่วน เช่น คลื่นที่ถือครองโดยกองทัพบก และ กรมประชาสัมพันธ์ กฎหมายหมายอนุญาตให้หารายได้ เท่าที่จำเป็นเพียงพอต่อการประกอบกิจการเท่านั้น โดย กสทช.ได้กำหนด หากเป็นคลื่นถือครองโดยกองทัพโฆษณาได้ไม่เกิน 8 นาทีต่อชั่วโมง กรมประชาสัมพันธ์โฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาที ต่อชั่วโมงและต้องมีการรายงานให้ กสทช.ทราบด้วยว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่”

ภาพ pixabay.com

กวาดเงินประมูล 700 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคลื่นความถี่ที่ได้รับคืนมาจัดสรรประมูลในครั้งแรกชองประเทศไทยจำนวน 71 คลื่นความถี่ มี 30 นิติบุคคลเข้าร่วม ได้เงินประมูลรวม 700 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นจากราคาเริ่มต้นการประมูล 398 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 77% โดยมีผู้ชนะ 9 ราย!!

ซึ่ง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ที่เป็นหนึ่งในผู้เล่นในธุรกิจวิทยุ เป็นผู้ชนะการประมูลมากที่สุด 47 คลื่นความถี่ จากที่ยื่นประมูล 55 คลื่นความถี่ และ บริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด ได้เป็นผู้ชนะจำนวน 13 คลื่นความถี่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 คลื่นความถี่  ส่วนที่เหลือเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งรายใหม่ที่ประมูลใบอนุญาตได้จะต้องเข้ามาเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่ 4 เม.ย.65 เป็นต้นไป

พ.อ.นที บอกว่า การประมูลครั้งนี้ราคาตั้งต้น พิจารณาจากพื้นที่ให้บริการและโอกาส ในการประกอบธุรกิจ ให้อยู่รอด ซึ่งในต่างจังหวัดเริ่มต้น 105,000  บาท ขณะที่ใน กทม.ราคาตั้งเต้นสูงสุด 54.83 ล้านบาท และเป็นการเปิดโอกาส ให้ผู้ประกอบการรายเล็กก็สามารถเข้าร่วมประมูลได้

ย้ำประมูลต้นทุนไม่สูง

ที่สำคัญการเปลี่ยนผ่านวิทยุไปสู่กระบวนการที่ถูกต้องก็สามารถเกิดขึ้นได้ ตามโรดแม็พที่ กสทช.กำหนด และทุกฝ่ายมีทางออก ทำให้ทุกคนมองเห็นแล้วว่าการเข้ามาด้วยวิธึการและระบบอนุญาตที่ถูกต้อง ไม่ได้มีต้นทุนสูงมาก ไม่จำเป็นต้องไปใช้ช่องทางไม่ถูกกฎหมาย!!!

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่ บอกว่า สื่อวิทยุถือเป็นสื่อที่ถูกดิจิทัล ดิสรัปชั่น เช่นกัน แต่ก็ยังมีกลุ่มคนฟังอยู่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จึงเห็นการประมูลแข่งกันบางคลื่นในบางจังหวัดราคาพุ่งเกิน 20 ล้านบาท เช่นคลื่น 104.50 MHz นครศรีธรรมราช ราคาเริ่มต้น 942,000 บาท ปิดที่ 28.02 ล้านบาท

ขณเะเดียวกันการแข่งขันในตลาดก็ยังสูงเช่นกัน ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาแนวโน้มลดลง มีมูลค่าประมาณ 3,260 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ส่วนกลยุทธ์ธุรกิจก็คล้ายกันด้วยการจัดกิจกรรมออนกราวด์ เพื่อดึงเงินสนับสนุน ควบคู่กับออนไลน์ รวมถึงต้องปรับรูปแบบสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้นด้วย เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์