เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า ในฐานะต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหารได้เห็นภาพรวมของสถานการณ์สงครามยูเครน ที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตอาหารของประเทศ ตั้งแต่ระดับราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ไปจนถึงมาตรการรัฐของไทยที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการจัดหาวัตถุดิบ
ทั้งนี้ รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก เมื่อเกิดสงครามทำให้ระดับราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นทันที เป็น 12.75 บาท/กก. จากราคา 8.91 บาท/กก. ในปี 2564 ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย พุ่งสูงกว่าตลาดโลกไปอยู่ที่ 12 บาท/กก. และมีแนวโน้มขยับต่อเนื่องไปถึง 15 บาท/กก. แม้จะราคาแพงขนาดไหน แต่ก็ไม่มีผลผลิตข้าวโพดออกสู่ตลาดแล้ว จากความต้องการใช้ข้าวโพดทั้งหมด 7.98 ล้านตัน ยังขาดแคลนถึง 3.18 ล้านตัน จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบทดแทน ซึ่งได้แก่ “ข้าวสาลี” ที่กำลังมีราคาพุ่งสูงสุดจากสงครามดังกล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาจะสูงเพียงใดก็ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีมาได้ เนื่องจากมีอุปสรรคจากมาตรการ 3:1 ที่รัฐบังคับให้ต้องซื้อผลผลิตข้าวโพด 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน แต่ประเด็นคือไม่มีข้าวโพดในประเทศให้ซื้อแล้ว จึงทำให้โรงงานอาหารสัตว์ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้
“เมื่อไม่มีข้าวโพดในประเทศให้ซื้อ 3 ส่วนเพื่อนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน ตามเงื่อนไข 3:1 จึงเท่ากับเป็นการบล็อกกระบวนการผลิตของโรงงานอาหารสัตว์ไปโดยปริยาย เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน ล่าสุด โรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลือง อ้างผลกระทบจากสงครามยูเครนประกาศราคาขายกากถั่วเหลืองที่ 22.50 บาท/กก. จากราคา 18.91 บาท/กก. ในปี 2564 เท่ากับปิดทางเดินต่อของโรงงานอาหารสัตว์ทันที โดยที่ยังไม่รวมต้นทุนค่าขนส่งจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น” นายพรศิลป์กล่าว
มาตรการรัฐอีกข้อคือการควบคุมบังคับไม่ให้อาหารสัตว์ขายได้ในราคาตามกลไกตลาด เป็นเหตุให้ราคาขายไม่สอดคล้องต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นรอบด้าน ไม่เพียงเท่านั้น รัฐยังคงมีมาตรการเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากถั่วเหลืองที่ 2% เป็นภาระต้นทุนซ้ำเติมโดยใช่เหตุ ทั้งๆ ที่การงดภาษีนี้ไม่กระทบเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองแต่อย่างใด
เมื่อไม่สามารถหาวัตถุดิบมาผลิตอาหารสัตว์ได้หรือแม้จะหามาผลิตได้ แต่ก็ต้องขายในราคาขาดทุน ดังนั้น ทางออกของสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหลายแห่ง จึงจำเป็นต้องทยอยลดกำลังการผลิตและปิดไลน์การผลิตอาหารสัตว์ลงบางส่วน
“สมาพันธ์ฯ ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลแล้วหลายครั้ง ทั้งที่ผ่านกระทรวงพาณิชย์ และทำหนังสือด่วนที่สุดถึงท่านนายกรัฐมนตรี เนื่องจากกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงรอบด้านจากสถานการณ์นี้ การผลิตอาหารสัตว์ในแต่ละปีที่มีประมาณ 22 ล้านตัน เป็นไปได้ที่ปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 17-18 ล้านตัน หรือหายไปกว่า 4 ล้านตัน” นายพรศิลป์กล่าวและว่า การลดลงของอาหารสัตว์หลายล้านตันเช่นนี้ จะส่งผลต่อเนื่องไปทั้งห่วงโซ่ปศุสัตว์ นั่นคือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไม่มีอาหารเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจำเป็นต้องพักเล้างดการเลี้ยง กระทบปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ทั้งเพื่อผู้บริโภคในประเทศและส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของชาติ
“ท่ามกลางกระแสสงครามยูเครนที่กำลังเกิดขึ้น ราคาอาหารสูงขึ้น แต่ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก กลับต้องชะลอปริมาณการผลิตอาหารเพราะอุปสรรคจากมาตรการรัฐ ก็ได้แต่หวังว่า ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเร่งแก้ปัญหานี้โดยด่วนที่สุดตามที่สมาพันธ์ฯ ได้เสนอผ่านหนังสือถึงท่านไปแล้ว ก่อนจะเกิดวิกฤติอาหารซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศ” นายพรศิลป์กล่าวทิ้งท้าย