พระเอกของงานปีนี้ ทุกสายตาจับจ้องไปที่ สุดยอดเครื่องบินรบแห่งยุค “เอฟ-35” ของบริษัทล็อคฮีด มาร์ติน แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่ง 2 ใน 3 รุ่นของยุคที่ 5 คือ เอฟ-35เอ และเอฟ-35บี มาแสดง หวังเรียกลูกค้าใหม่กระเป๋าหนัก ในภูมิภาคเอชีย-แปซิฟิก ที่สถานการณ์ด้านความมั่นคงผันผวนอยู่ตลอดเวลา

จากบทวิเคราะห์ของสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี (อาร์เอฟเอ) หลายประเทศพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในเอเชีย-แปซิฟิก ซื้อ เอฟ-35 มาใช้งานแล้ว รวมถึง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย สิงคโปร์กำลังจะเป็นประเทศต่อไป ตามด้วยไทยเรา ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรแบบมีพัธสัญญา มายาวนานของสหรัฐ

แต่นักวิเคราะห์บอกว่า รัฐบาลสหรัฐไม่ใช่จะขาย เอฟ-35 ให้ใครง่าย ๆ และในกรณีของไทย ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าวอชิงตันจะอนุมัติการขาย สาเหตุหลักเนื่องจาก รัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดด้านกลาโหมกับจีน ประเทศคู่ปรับทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ

เครื่องบินรบเทคโนโลยีล่องหน “สเตลธ์” เอฟ-35 ตกเป็นข่าวในด้านลบ หลังเกิดเหตุรุ่น เอฟ-35ซี ตกจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน ในทะเลจีนใต้ ลงไปจมอยู่ก้นมหาสมุทร เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา และกองทัพสหรัฐพยายามเก็บกู้ซากเครื่องบินขนานใหญ่

ริชาร์ด บิทซินเจอร์ นักวิจัยอาวุโส โครงการปรับเปลี่ยนกองทัพ วิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ กล่าวว่า แม้จะเกิดความผิดพลาด แต่ เอฟ-35 ยังคงเป็น “เครื่องบินรบเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุด เท่าที่มีอยู่ในตลาดในปัจจุบัน”

ทิม เคฮิลล์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของล็อคฮีด มาร์ติน กล่าวยืนยันในงานสิงคโปร์ แอร์โชว์ 2022 ว่า ทางการไทย “แสดงความสนใจเอฟ-35” แต่การจะซื้อได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐ

กลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ “อนุมัติในหลักการ” สนับสนุนแผนการของกองทัพอากาศ ในการจัดซื้อเครื่องบินรบชุดใหม่ 4 ลำ รวมมูลค่าประมาณ 13,800 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 เพื่อนำเข้าประจำการ ทดแทนฝูงบินรบรุ่น เอฟ-16เอ/บี ไฟท์ติง ฟัลคอน ที่กำลังเก่าล้าสมัย

อันเดรียส รัพเพรชท์ ผุ้เชี่ยวชาญการบินทหารจีน กล่าวว่า ความต้องการซื้อ เอฟ-35 ของกองทัพไทย “น่าประหลาดใจมาก” เนื่องจากในระยะหลายปีล่าสุด ไทยเอียงเข้าหาจีนมากขึ้น ก่อนหน้านี้เขาคิดว่าไทยจะสั่งซื้อเครื่องบินรบ เจ-10ซี ของจีน โดยเฉพาะหลังจากกองทัพจีนส่งฝูงบินรบรุ่นนี้ เข้าร่วมการฝึกซ้อมผสม จีน-ไทย เมื่อไม่นานที่ผ่านมา

ความสนใจใน เอฟ-35 ของ ทอ.ไทย ยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากในประเทศ นักวิเคราะห์บางรายมองว่า เรื่องนี้น่าจะมีแรงจูงใจซ่อนเร้น มากกว่าจุดประสงค์ทางยุทธศาสตร์

เอียน สตอเรย์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษายูโซฟ อิชัค ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางกองทัพที่กำลังเติบโต ระหว่างไทยกับจีน เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญ ที่สหรัฐอาจจะตัดสินใจไม่ขาย เอฟ-35 ให้ เพราะสิ่งที่สหรัฐวิตกมากที่สุดคือ เทคโนโลยีอ่อนไหว ที่ติดตั้งในเครื่องบินรุ่นนี้ ซึ่งอาจจะรั่วไหลไปสู่จีนได้

ยกตัวอย่างกรณีของตุรกี ประเทศร่วมเครือข่ายองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กับสหรัฐ ซึ่งขอซื้อ เอฟ-35 เช่นกัน แต่วอชิงตันตัดสินใจไม่ขายให้ ด้วยเหตุผลตุรกีใกล้ชิดกับรัสเซียมากเกินไป.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS