กรมศิลปากร และ จ.สุพรรณบุรี ได้ร่วมกันจัดสร้าง อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ขึ้น ตามดำริของ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพสลักหินเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จีน ที่ China Millennium Monument เมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

โดย อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่ ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี จัดแสดงพระราชประวัติของ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ “ขุนหลวงพะงั่ว” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศด้านการศึกสงคราม การเมืองการปกครอง การศาสนา และการค้ากับต่างประเทศ  

นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองสุพรรณบุรีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาว จ.สุพรรณบุรี ผ่านงาน ประติมากรรมหล่อโลหะสำริดอันงดงามและมีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งงานประติมากรรมหล่อโลหะสำริดดังกล่าวถือว่าเป็นไฮไลต์ของที่นี่เลยทีเดียว เพราะมีความกว้าง 4.20 เมตร และยาวถึง 88 เมตร มีความสวยงาม อลังการมาก  

โดยเนื้อหาในงานประติมากรรมหล่อโลหะสำริด แบ่งออกเป็น 9 ตอน ประกอบด้วย 1.สุพรรณบุรี : ชุมชนแรกเริ่ม 2.สุพรรณบุรี : อู่ทอง…เครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาค  3.สุพรรณบุรีในวัฒนธรรมศาสนา : อู่ทองเมืองศูนย์กลางศาสนารุ่นแรก  4.สุพรรณบุรี : เนินทางพระ…ร่องรอยพุทธศาสนามหายาน  5.สุพรรณบุรี : ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 6.สุพรรณบุรี : เมืองลูกหลวงของราชธานีศรีอยุธยา 7.สุพรรณบุรี : สมรภูมิยุทธหัตถี  8.สุพรรณบุรี : หัวเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และ 9.ปัจจุบัน…สุพรรณบุรี  

นอกจากผู้เข้าชมจะได้รับชมความงดงามของประติมากรรมสำริดแล้ว ยังได้รับความรู้ผ่านระบบการบรรยายนำชมที่ทันสมัยทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และอุปกรณ์ Audio guide ที่มีให้เลือกถึง 3ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน ทั้งยังมีเทคโนโลยีแสง เสียงประกอบการจัดแสดงด้วย  

สนใจเข้าไปชมความอลังการของประติมากรรมหล่อโลหะสำริดที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ที่อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่ว และประวัติศาสตร์สุพรรณบุรสอบถามกันไปได้เลยที่โทร. 0-3553-5330 ในวันและเวลาราชการ  

…………………………………

คอลัมน์ : จุดเช็กอิน…ยลถิ่นชุมชน