คดีนี้ รัฐบาลแกมเบีย ประเทศขนาดเล็กสุดบนแผ่นดินใหญ่แอฟริกา ทางตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อไอซีเจ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ศาลโลก” เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2562 ในฐานะตัวแทน 57 ประเทศสมาชิก องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) โดยกล่าวว่าเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจาในประเทศ

มูลเหตุแห่งคดีเกิดจาก ชาวโรฮีนจามากกว่า 730,000 คน หลบหนีการกวาดล้างของกองทัพเมียนมา ต่อกลุ่มติดอาวุธในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกในปี 2560 ข้ามแดนไปอาศัยพักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ และผลการสอบสวนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ข้อสรุปว่า ปฏิบัติการของกองทัพเมียนมา “มีเจตนา” ฆ่าล้าเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา

ตอนที่แกมเบียยื่นฟ้องคดี รัฐบาลเมียนมายังเป็นพลเรือน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) นำโดย นางออง ซาน ซูจี และซูจีนำทีมนักกฎหมาย เดินทางไปสู้คดีถึงศาลโลก ในกรุงเฮกด้วยตนเอง โดยในเดือน ม.ค. 2564 ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน โดยระบุว่า ไอซีเจ “ไม่มีอำนาจ” พิจารณาคดีนี้ ตามคำฟ้องของแกมเบีย

แต่เพียงแค่ไม่กี่วันต่อมา คือวันที่ 1 ก.พ. 2564 รัฐบาลของเธอถูกกองทัพเมียนมา นำโดย พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ

ตั้งแต่กองทัพเมียนมายึดอำนาจ หลายหน่วยงานในสังกัดยูเอ็น ได้เชิญผู้แทนของรัฐบาลทหารในกรุงเนปิดอว์ เข้าร่วมการประชุมหารือหลายรายการ แม้รัฐบาลทหารจะไม่มีสถานะอย่างเป็นทางการ ในสำนักงานใหญ่ยูเอ็น ซึ่งอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยคณะกรรมการตรวจตราสารแต่งตั้ง ของสมัชชาใหญ่ยูเอ็น มีมติเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา ให้เลื่อนการตัดสินใจในเรื่องนี้ ออกไปก่อน และอนุญาตให้นายจอ โม ตุน อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเมียนมาประจำยูเอ็น ซึ่งเป็นผู้แทนโดยถูกต้องของประเทศในรัฐบาลชุดของนางซูจี ทำหน้าที่ต่อไปก่อน

การเข้าร่วมสู้คดีของรัฐบาลทหารเมียนมา ถูกท้วงติงจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมถึงรัฐบาลคู่ขนานที่ใช้ชื่อว่า รัฐบาลแห่งชาติ หรือ เอ็นยูจี ซึ่งกลัวว่าจะถือเป็นการยอมรับของนานาชาติ ต่อรัฐบาลทหารเมียนมา โดยไม่มีสถานะทางกฎหมาย

ต้นสัปดาห์ที่แล้ว เอ็นยูจีออกแถลงการณ์ว่า นายจอ โม ตุน ที่เอ็นยูจีเสนอชื่อเป็นตัวแทนสู้คดีในศาลโลก “เป็นเพียงผู้เดียว ที่ได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้อง ในการต่อสู้คดีแทนรัฐบาลเมียนมา”

ส่วนนายคริสโตเฟอร์ ไซโดตี นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และอดีตสมาชิกคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงในเมียนมา ที่ได้รับการแต่งตั้งจากยูเอ็น กล่าวว่า คณะนายทหารนำโดยพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ไม่ใช่รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของเมียนมา ไม่มีทั้งอำนาจและความสามารถ ในการทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิตั้งตัวแทนสู้คดีในศาลโลก

แหล่งข่าววงในไอซีเจ เผยต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่า ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นตัวแทนเมียนมา ในการต่อสู้คดี ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารเมียนมา 2 คนคือ นายโก โก หล่าย ผู้แทนพิเศษประสานงานระหว่างประเทศ และ ดร.ทิดา อู อัยการสูงสุดและรัฐมนตรีกระทรวงกิจการกฎหมาย โดยทั้งสองซึ่งต่างก็อยู่ในบัญชีดำคว่ำบาตร ของกระทรวงการคลังสหรัฐ จะแทนที่นางซูจี เป็นหัวหน้าทีมนักกฎหมาย 8 คน เข้าต่อสู้คดี

โฆษกไอซีเจปฏิเสธที่จะตอบคำถามของรอยเตอร์ เกี่ยวกับตัวแทนที่ถูกต้องของเมียนมา ในการต่อสู้คดีนี้ โดยระบุกฎข้อบังคับขององค์กรในเรื่องนี้ เขียนไว้แค่ว่า การสื่อสารเกี่ยวกับผู้แทน จะมาจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูตของประเทศนั้น ๆ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES