สถานการณ์โควิด-19ประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่ เจอคนติดเชื้อทะลุหลักหมื่น-ตายเกินหลักร้อย อย่างต่อเนื่อง  ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกคำสั่ง ศบค.ฉบับที่  28  ยกระดับมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่13 จังหวัดสีแดงเข้ม

เพื่อหวังหยุดการระบาดที่เป็นไฟลามทุ่ง!!

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือท่านผู้นำมีมุมมองการแก้ปัญหาโควิด -19 แบบ “อัตวิสัย” (subjective) ตามแบบฉบับทหารที่ต้องการรบเอาชนะแตกหัก – ยึดพื้นที่ คืนโดยใช้มาตรการ ล็อกดาวน์ แบบเข้มข้น

ทั้งที่ในความเป็นจริงหากมองโลกแบบ “ภววิสัย”(objective)  โควิด-19 ต้องอยู่กับประเทศไทยไปอีกนาน  กลายเป็นโรคประจำถิ่น  (endemic) เหมือนกับไข้หวัด

โจทย์สำคัญตอนนี้ ไม่ใช่อยู่ที่การ ทำสงครามกับไวรัส เอาชนะขั้นแตกหัก  กดตัวเลขติดเชื้อให้เป็น “ศูนย์” หากแต่คือการเร่งฉีด “วัคซีนคุณภาพ”คุมการระบาด ให้เร็วที่สุด

เมื่อช่วงค่ำวันที่  20 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ เคลื่อนไหวผ่าน เฟซบุ๊กยอมรับตอนนี้สถานการณ์เดินมาถึงช่วง  “หัวเลี้ยวหัวต่อ” วิกฤตที่มีการระบาดร้ายแรงที่สุดเท่าที่ ประเทศไทยเคยเจอและพบ ประชาชนส่วนหนึ่งทำตัวเป็นภาระส่วนรวมเล่นพนัน – ตั้งวงกินเหล้า-จัดปาร์ตี้- ฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้การแพร่ระบาดยังไม่ลดลงและมีแนวโน้มการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ในช่วงท้ายท่านผู้นำ โพสต์ข้อความที่สะท้อนถึงมุมมอง แบบทหารเน้นย้ำ สงครามของโลกกับโควิด ยังไม่จบสิ้น

การต่อสู้ของไทยในระลอกนี้  มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้ง13 จังหวัด ถือเป็นสมรภูมิรบที่เราต้องเอาชนะและยึดพื้นที่คืนกลับมาจากไวรัสร้ายโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีประชาชนต้องเจ็บป่วยล้มตายไปมากกว่านี้

ท่านผู้นำเน้นย้ำการศึกครั้งนี้ รัฐไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยเพียงลำพัง แต่ต้องเกิดจากความสามัคคีของคนในชาติ โดยเฉพาะในสมรภูมิทั้ง 13 จังหวัดที่ต้อง ดำเนินตามมาตรการที่ออกมาอย่างเข้มงวดที่สุด

“ผมขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทั้ง 13 จังหวัด ได้ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งและเข้มงวด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง13จังหวัดได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่กับผู้กระทำผิด” ท่านผู้นำเตือน

หากพูดอย่างตรงไป-ตรงมา  วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้  พล.อ.ประยุทธ์  ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ว่าฉากสุดท้ายของเรื่องนี้ จบลงแบบไหน

เนื่องจาก ท่านผู้นำ รวบอำนาจกฎหมาย  31 ฉบับไปรวมศูนย์ที่ตัวเองคนเดียวเพื่อบัญชาการแก้ปัญหา

ทบทวนความจำเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2564  ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบโอนอำนาจหน้าที่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ในกฎหมาย 31 ฉบับ เพื่อให้ ท่านผู้นำ ใช้สั่งการแก้ปัญหาโควิดแบบเบ็ดเสร็จ-เด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

กฎหมายทั้ง 31 ฉบับ ที่โอนอำนาจไปให้นายกรัฐมนตรี แบ่งออกเป็น 5 หมวดหลัก  ประกอบด้วย (1) หมวดสาธารณสุข  (2)  หมวดคมนาคม (3)  หมวดความมั่นคง (4) หมวดพลังงาน (5)หมวดพาณิชย์   ครบคลุมทั้ง  พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 , พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 , พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 , พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 , พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  ฯ

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคอมตะ  “อำนาจที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง”  (With great power comes with great responsibility)

หาก พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจที่มีล้นมือนำพารัฐนาวา ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ได้สำเร็จ คนไทยทั้งประเทศ พร้อมโมทนาสาธุ

แต่ในมุมตรงข้ามหากบริหารผิดพลาด ทำบ้านเมืองเสียหายต้องมีสปิริต แสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำ.