ก่อนถึงการเลือกตั้งผู้นำยูเครน เมื่อปี 2562 “โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี” เป็นนักแสดงตลกคนหนึ่ง ซึ่งโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงของยูเครน มีประสบการณ์ทางการเมือง “แบบสมมุติ” จากการรับบทนำในซีรีส์ เป็นครูสอนประวัติศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของยูเครน

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี รับฟังรายงานจากเจ้าหน้าที่ ระหว่างลงพื้นที่แนวรบทางตะวันออกของยูเครน

แต่ “ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร” เมื่อบทบาทจากในซีรีส์เรื่องนั้น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในยูเครน กลายมาเป็น “ความจริงที่พลิกชีวิต” ของเซเลนสกีไปตลอดกาล เมื่อเจ้าตัวชนะการเลือกตั้งผู้นำยูเครน “ในโลกแห่งความเป็นจริง” เมื่อปี 2562 ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนท่วมท้นมากกว่า 73%

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของเซเลนสกีได้รับการเฉลิมฉลองไม่นานนัก เพราะหลังจากนั้น บรรยากาศของความไม่แน่นอนเข้ามาปกคลุมแทนที่ ประชาชนตั้งคำถามมากขึ้น ว่าเซเลนสกีจะนำพายูเครนไปในทิศทางใด ท่ามกลางความท้าทายหลายประการจากภายในประเทศ ทั้งปัญหาคอร์รัปชั่นเรื้อรัง และวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ ทว่าความท้าทายยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือ การบริหารจัดการความสัมพันธ์ ระหว่างยูเครนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาอำนาจ มีผู้นำ “บุรุษเหล็กที่แข็งแกร่ง” และศักยภาพทางทหารที่น่ากลัวมาเป็นลำดับต้นของโลก นั่นคือ รัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน

นับตั้งแต่รับตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของยูเครน เซเลนสกีนำประเทศแห่งนี้ใกล้ชิดกับตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ, สหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดของรัสเซีย

บรรยากาศตึงเครียดด้านความมั่นคง ตามแนวชายแดนระหว่างยูเครนกับรัสเซีย “ไม่ใช่เรื่องใหม่” สำหรับรัฐบาลเคียฟและประชาชนในประเทศ เพราะเกิดขึ้นมานานกว่า 1 ปี “โดยไม่มีอะไร” แต่สถานการณ์ “กลายเป็นเรื่องตึงเครียดอย่างฉับพลัน” และมีการกระตุ้นอยู่ตลอดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ว่าจะเกิด “สงครามเต็มรูปแบบ”

ชาวยูเครนเดินขบวนเพื่อความสมานฉันท์ ที่สนามกีฬากลาง ในกรุงเคียฟ

การปลุกปั่นกระแสข่าวดังกล่าว กลายเป็นบททดสอบภาวะผู้นำครั้งสำคัญของผู้นำยูเครน วัย 44 ปี ที่ก่อนหน้านั้นพยายาม “แสดงความเป็นมิตร” ด้วยการพยายามเจรจาสันติภาพกับกองกำลังแบ่งแยกดินแดน ในพื้นที่ขัดแย้งทางตะวันออกของประเทศมาแล้ว หลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายของเซเลนสกีในเรื่องนี้ แทบไม่มีความคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก

ทั้งนี้ “ข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐ” อ้างว่า รัสเซียเตรียมเปิดฉากปฏิบัติการทางทหาร “แบบสายฟ้าฟาด” ในยูเครน “เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.” เซเลนสกีพยายามเรียกคืนความเชื่อมั่นอีกครั้ง ด้วยการกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “ใครก็ตามที่มีข้อมูลน่าเชื่อถือ 100% ว่ารัสเซียจะโจมตียูเครนในวันนั้นจริง ขอให้นำออกมาแสดง” พร้อมทั้งกล่าวว่า “ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทุกรูปแบบยังคงมีอยู่” แต่ “ไม่มีทางเกิดสงครามเต็มรูปแบบบนแผ่นดินยูเครน”

เกี่ยวกับการที่สหรัฐและประเทศตะวันตกอีกหลายแห่ง อพยพนักการทูตออกไปเกือบหมด ปิดสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเคียฟ “เป็นการชั่วคราว” แล้วย้ายไปยังเมืองในภาคตะวันตก นัยว่าให้ห่างจากฝั่งตะวันออกซึ่งใกล้กับรัสเซีย เซเลนสกีกล่าวว่า “เกินกว่าเหตุและไม่มีประโยชน์” เนื่องจากหากเกิด “เหตุการณ์ไม่คาดฝัน” ทั้งยูเครนย่อมได้รับผลกระทบทั่วถึงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ยูเครนเผชิญกับการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชน เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปทางการเมืองมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไปจะเกิดขึ้น ในปี 2566 ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในระยะหลังบ่งชี้ไปในทางเดียวกัน ว่าพรรครัฐบาลของเซเลนสกีมีแนวโน้มสูญเสียการครองที่นั่งข้างมากในสภา ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความลำบากให้กับผู้นำยูเครน หากต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ในปี 2567

อย่างไรก็ตาม หากเซเลนสกีสามารถประคับประคองรัฐนาวาลำนี้ ให้ฝ่าฟันคลื่นลมมรสุมไปได้ ภายในระยะเวลา 1-2 ปีนับจากนี้ ชาวยูเครนอาจยังให้โอกาสอดีตดาราคนนี้ ให้ได้ฉายแสงต่ออีกครั้งก็ได้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS