สำนักข่าวซีเอ็นบีซี เผยแพร่เนื้อหาในจดหมายขององค์การนาซา ความยาว 5 หน้า ซึ่งส่งไปยังคณะกรรมการกลางในการกำกับดูแลการสื่อสารของสหรัฐ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานบริหารกิจการโทรคมนาคมและสารสนเทศสหรัฐ ในนามขององค์การนาซา ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับโครงการส่งดาวเทียม ‘สตาร์ลิงก์’ รุ่นที่ 2 ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์

ในแผนการใหม่ของสเปซเอ็กซ์นั้น จะมีการส่วงดาวเทียมรุ่นที่ 2 จำนวน 30,000 ดวง ขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบโลก ขณะที่ท่าทีของนาซา คือต้องการให้ยั้งไว้ก่อน เพื่อศึกษาความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อภารกิจต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงความเสี่ยงต่อชีวิตมนุษย์ด้วย

ความกังวลหลักของนาซาก็คือ ความแออัดของกลุ่มดาวเทียมในวงโคจรระดับต่ำ นาซาเผยว่า มีการตรวจพบวัตถุลอยฟ้าเหล่านี้เป็นจำนวนมากกว่า 25,000 ชิ้นแล้ว และมีประมาณ 6,100 ชิ้น ที่มีวงโคจรห่างจากพื้นดินไม่มาก กล่าวคือต่ำกว่า 600 กม. จากพื้นดิน หากสเปซเอ็กซ์ยิงดาวเทียมขึ้นไปอีก ก็จะยิ่งเพิ่มความแออัดให้มากขึ้น และเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงต่อภารกิจในอวกาศของนาซาและหน่วยงานอื่น ๆ นอกจากนี้ยังอาจต้องมีการเปลี่ยนเส้นทางการโคจรเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกับดาวเทียมของสเปซเอ็กซ์

แม้สเปซเอ็กซ์จะอ้างว่า ดาวเทียมของตนมีความสามารถในการหลบหลีกการชนโดยอัตโนมัติ แต่ดูเหมือนว่าทางนาซาจะยังไม่ปักใจเชื่อเท่าไหร่นัก และรุบะว่าคำกล่าวอ้างนี้ “ไม่มีหลักฐานทางสถิติ” มายืนยัน นอกจากนี้ บริษัทยังเคยมีประวัติว่าไม่ยอมขยับดาวเทียมของตัวเองเมื่ออยู่ในวงโคจรที่เสี่ยงต่อการชนกับดาวเทียมอื่น

และถ้าสมมุติว่าเกิดมีเหตุทำให้ดาวเทียมเหล่านี้ชนเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ ย่อมทำให้ชีวิตของนักบินอวกาศในสถานีตกอยู่ในความเสี่ยง

ความกังวลอีกประการหนึ่งก็คือ การมีดาวเทียมจำนวนมากอยู่ในวงโคจร อาจกลายเป็นตัวขวางระบบการป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ซึ่งได้มีการติดตั้งและเตรียมพร้อมไว้แล้ว และยังทำให้ประสิทธิภาพในการสำรวจดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ลดลง เนื่องจากระบบสำรวจด้วยการถ่ายภาพซึ่งอาจถ่ายติดดาวเทียมสตาร์ลิงก์เป็นจำนวนมาก อาจทำให้ภาพบางส่วนใช้งานไม่ได้ และทำให้ทีมงานมองเห็นดาวเคราะห์น้อยที่อาจเข้าใกล้โลกได้ยากขึ้น

แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะมีน้อย แต่ก็อาจส่งผลให้หน่วยสำรวจพลาดการติดตามดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายต่อโลกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในซีรีส์เรื่อง ‘Don’t Look Up’ เพราะแม้ว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องอาจมีวิธีเบี่ยงเบนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยที่เป็นอันตราย แต่ถ้าเราไม่รู้ตัวว่าดาวเคราะห์เหล่านี้กำลังพุ่งเข้าหาโลก เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ต้องเปิดปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนทิศทางของมันตั้งแต่เมื่อไหร่

เนื้อความในจดหมายแสดงให้เห็นความกังวลของนาซาอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่การส่งดาวเทียมขึ้นวงโคจรเหล่านี้ แทบจะไม่นับว่าเป็นภารกิจในอวกาศด้วยซ้ำไป 

อย่างไรก็ตาม นาซามีแผนการที่จะปลดประจำการสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2573 หลังจากนั้นแล้ว การวิจัยค้นคว้าต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการในอวกาศล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยสถานีอวกาศของเอกชน 

สุดท้ายแล้ว ความกังวลอย่างเปิดเผยของนาซาในครั้งนี้ จะสามารถหยุดโครงการของสเปซเอ็กซ์ได้หรือไม่ เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้

แหล่งข้อมูล

www.bgr.com/science/nasa-says-spacex-satellites-could-kill-astronauts-and-threaten-earth/

เครดิตภาพ : Getty Images