เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในเขตแพร่ระบาดสูงสุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะชาวชุมชนแออัด ชาวชุมเมืองที่มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พอช.จึงมีแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด ในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างเร่งด่วน โดย พอช.จัดสรรงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาทเพื่อจัดทำ ‘โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด’ เป้าหมายเพื่อให้เครือข่ายชุมชนในระดับเมือง (ในกรุงเทพฯ คือระดับเขต) และชุมชนผู้มีรายได้น้อย ได้จัดทำแผนงานการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค การเตรียมจัดทำสถานที่พักคอย ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพ รายได้ ฯลฯ โดยเครือข่ายชุมชนฯ และชุมชนได้เสนอโครงการมาที่ พอช. และ พอช.ได้อนุมัติโครงการเพื่อสนับสนุนชุมชนดำเนินการไปแล้ว (ตั้งแต่เดือน มิ.ย.64 จนถึง 20 ก.ค.) รวม 31 เมือง 332 ชุมชน กลุ่มเป้าหมายรวม 67,978 ครัวเรือน (จากทั้งหมด 1,113 ชุมชน)
นายสมชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนงบประมาณสนับสนุน แบ่งเป็น 1.เมืองใหญ่ (เกิน 20 ชุมชน) พื้นที่สีแดง มีชาวชุมชนต้องกักตัวเกิน 81 คนขึ้นไป สนับสนุนงบประมาณ 150,000 บาท 2.พื้นที่สีแดงอ่อน กักตัวระหว่าง 31-80 คน สนับสนุนงบฯ 100,000 บาท 3.พื้นที่สีเหลือง กักตัวไม่เกิน 30 คน สนับสนุนงบฯ 80,000 บาท และสนับสนุนในระดับชุมชนไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท รวมงบที่ พอช.อนุมัติแล้วทั้งหมดประมาณ 12 ล้านบาท โดยที่ทั้ง 332 ชุมชนที่เสนอโครงการและผ่านการอนุมัติแล้ว รวม 107 แผนงาน/กิจกรรม แบ่งเป็น 1.ศูนย์พักคอยเตรียมส่ง รพ. 22% 2.อบรมอาชีพ 19% 3.จำหน่ายอาหาร ข้าวสาร สินค้าจำเป็น ราคาทุน 14% 4.แจกอาหาร ข้าวสาร ให้ผู้กักตัว กลุ่มเปราะบาง 13% 5.เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน (เช่น สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข อบต. รพ.สต. สปสช.) 13%
ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลของชุมชนเครือข่ายที่เสนอโครงการมายัง พอช. จำนวน 332 ชุมชน ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ค.64 พบว่า มีผู้สูงอายุ รวม 24,473 คน ผู้พิการติดเตียง รวม 11,610 คน ผู้สูงอายุ และพิการ รวม 3,735 คน เด็กเล็ก 0-5 ปี รวม 9,886 คน ผู้ติดเชื้อ รวม 4,078 คน ผู้กักตัว รวม 8,148 คน ผู้ได้รับผลกระทบด้านอาชีพรายได้ รวม 17,959 คน ชุมชนติดเชื้อสะสม จำนวน 421 ชุมชน ผู้ติดเชื้อสะสม จำนวน 3,551 คน เสียชีวิต รวม 59 คน.