ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผอ.ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า จากสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันของโลกที่นับวันจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาคนหรือทุนมนุษย์ภายใต้มิติที่เชื่อมโยงกับการศึกษาทั้งในและนอกระบบจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์หรือกรอบแนวคิดให้ทันกับสภาวการณ์ ดังนั้น สถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ผู้มีหน้าที่กำหนดทิศทางหรือนโยบายและผู้ปฏิบัติ จำเป็นที่จะต้องผนึกพลังร่วมทลายกำแพงเพื่อนำนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับการเรียนการสอนไปสู่การปฏิบัติที่ตอบโจทย์ในยุคดิจิทัล และที่สำคัญการพัฒนาคนหรือการเพาะพันธุ์ทุนมนุษย์ให้เป็นผู้ที่มีความพร้อมรอบด้าน จึงเป็นหนึ่งในมิติที่ถือว่ามีความท้าทายสำหรับผู้นำการศึกษาในยุคนี้เป็นอย่างยิ่ง

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ที่น่าสนใจ กรอบการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ที่ครูหรืออาจารย์บางสถาบันเป็นผู้ชี้นำหรือผูกขาดแนวคิดแต่เพียงฝ่ายเดียวคงจะไม่ใช่กลยุทธ์หรือนวัตกรรมที่จะใช้ได้อีกต่อไป คงถึงเวลาที่จะต้องขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของโลกและสังคมยุคใหม่โดยเฉพาะการนำโมเดล หรือรูปแบบที่ได้รับความนิยมจากนานาประเทศซึ่งประสบความสำเร็จมาดำเนินการ ซึ่งหนึ่งในโมเดลที่น่าสนใจและบ้านเรามีสถาบันการศึกษาทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จมาแล้ว ได้แก่ แนวคิด Mentorship Program สำหรับแนวคิดดังกล่าวคือ การสร้างเครือข่ายด้วยการเชิญบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จเฉพาะทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งรูปแบบนี้จะเป็นหนึ่งในสะพานเชื่อมหรือเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เพิ่มมุมมองที่กว้างไกลและเป็นกระบวนการเสริมปัญญาด้วยการสร้างมุมมองสะท้อนย้อนคิด (reflection) และถ่ายทอดความรู้ แนวคิด มุมมอง ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญสั่งสมมา ซึ่งจากแนวคิดที่ได้นำเสนอนี้ หากสถาบันการศึกษาทุกระดับได้นำโมเดลดังกล่าวไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน เชื่อว่าเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตจะเป็นทุนมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีคุณค่าสามารถเป็นพลังร่วมในการขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป