เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี จัดงานเปิดนิทรรศกาล “ย้อนเวลาหาราชัน ตามรอยซีรีส์เกาหลี” ภายในงานผู้เข้าชมจะได้พบกับชุดฮันบกรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งร่วมสัมผัสประสบการณ์ในการสวมชุดฮันบก และถ่ายรูปกับฉากหลังของซีรีส์เกาหลีย้อนยุค 2 เรื่องดังอย่าง ‘The king’s Affection’ และ ‘The Red Sleeve’ โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 ก.พ – 29 เม.ย 2565


พิธีเปิดเริ่มด้วยการแสดงรำอวยพรเกาหลีจาก “ลี จี-ซอน” จากนั้นตามด้วยแฟชั่นโชว์ชุดฮันบก จากนายแบบและนางแบบกิติมศักดิ์ รวมถึง นายมุน ซึง-ฮยอน เอกอัคราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย, โค้ชชเว ยอง-ซอก, เทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก, ดีเจบุ๊คโกะ ธนัชพันธ์ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของเมืองไทย, กัปตันน้อด ชนันภรณ์ รสจันทร์ ลูกหลานทหารผ่านศึกเกาหลี มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2558 และกัปตันสายการบินแอร์เอเชีย โดยทั้ง 4 ท่านได้รับการแต่งตั้งจากสถานเอกอัคราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ให้ดำรงตำแหน่งทูตกิตติมศักดิ์ด้านวัฒนธรรมด้วย

นายมุน ซึง-ฮยอน เอกอัคราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย


นอกจากนี้ ทางเดลินิวส์ได้รับเกียรติสัมภาษณ์พิเศษกับ นายมุน ซึง-ฮยอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เกี่ยวกับนิทรรศการนี้ ว่าจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมชุดประจำชาติเกาหลี หรือชุดฮันบก ให้คนไทยได้รู้จัก ซึ่งจุดเด่นของชุดฮันบก คือ มีความสวยงามและหรูหรา มีลักษณะเป็นชุดผูกแบบหลวม ๆ เมื่อสวมใส่จะมีความคล่องตัว และสะดวกสบายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ


ปัจจุบัน ชุดฮันบกมีรูปแบบหลากหลายสไตล์ ทั้งแบบดั้งเดิม และแบบร่วมสมัย และจะนิยมสวมใส่กันในช่วงเทศกาล อาทิ ปีใหม่ แต่งงาน หรือ งานระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม ในเกาหลีใต้มีกลุ่มผู้ดูแลชุดฮันบกทั้งแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัย ทั้งสองกลุ่มนี้จะร่วมมือกันดูแลรักษา เพื่อป้องกันการเสื่อมสลายของชุดฮันบกอันทรงคุณค่า


ชุดฮันบกมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่โบราณ คนเกาหลีจะสวมชุดฮันบกแตกต่างกันตาม อายุ เพศ ชนชั้นทางสังคม และสถานภาพสมรสด้วย สมัยก่อนคนเกาหลีจะใส่ชุดฮันบกเป็นประจำทุกวัน แต่ปัจจุบันจะใส่เฉพาะวันสำคัญ ทั้งนี้ ชุดฮันบกในแต่ละยุคสมัยจะมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และสภาพสังคมในขณะนั้น ซึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผ่านชุดฮันบกได้เป็นอย่างดี


ชุดฮันบกนั้นมีมาอย่างยาวนาน ในสมัยก่อนชุดจะทำมาจากหนังสัตว์ และมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรสามก๊กเกาหลี ได้แก่ ยุคโครกรูยอ ยุคแพ็กเจ และยุคชิลลา ซึ่งพบหลักฐานจากภาพวาดฝาผนังและหลุมฝังศพ จากยุคอาณาจักรโครกรูยอ ที่แสดงให้เห็นลักษณะการแต่งกายของคนในสมัยนั้น


ชุดฮันบก มีองค์ประกอบหลัก คือ ชอกอรี เสื้อคลุมยาว, พาจี กางเกงสำหรับผู้ชาย, ชีมา กระโปรงจีบรอบตัวสำหรับผู้หญิง และ ปอ เสื้อคลุมตัวนอกสุด ซึ่งแบ่งลักษณะการแต่งกายตามระบบวรรณะ โดยกษัตริย์และเหล่าขุนนางจะใส่ชุดที่มีลวดลาย และสีสันสวยงาม เพื่อแสดงถึงพลังอำนาจ และความมั่งคั่งของผู้สวมใส่


ยุคอาณาจักรรวมแพ็กเจและชิลลา ชุดฮันบกมี 2 รูปแบบคือ แบบดั้งเดิม และแบบต่างชาติ ที่ได้รับอิทธิพลจากราชวงศ์ถังของจีน ซึ่งจะมีความหรูหรา เพราะยุคสมัยนี้มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับราชวงศ์ถัง โดยแบ่งชุดตามชนชั้นและยศตำแหน่งเช่นกัน


ต่อมาพระเจ้าฮึงด็อก กษัตริย์ชิลลา องค์ที่ 42 แห่งอาณาจักรชิลลา ได้กำหนดรูปแบบชุดฮันบกใหม่ เพื่อไม่ให้ประชาชนทั่วไปต้องจ่ายค่าเสื้อเสื้อผ้ามากเกินไป จึงมีการกำหนดลักษณะประเภทและเนื้อผ้าตามสถานะบุคคล ดังนั้นจึงทำให้เกิดการใช้เนื้อผ้าหลากหลายในยุคนี้ และผู้หญิงมีผ้าแถบเอาไว้คาดทับบริเวณเอวด้วย


ชุดฮันบกมีจุดเปลี่ยนสำคัญ 2 ช่วงด้วยกัน คือในสมัยอาณาจัรโครยอ ( ค.ศ. 918 – 1392 ) และอาณาจักรโชชอน ( ค.ศ. 1392 – 1910 )


ในสมัยโครยอ ชุดฮันบกสำหรับประชาชนทั่วไปทั้งชายและหญิงยังคงคล้ายกับยุคชิลลา แต่ชุดสำหรับกษัตริย์ และบรรดาขุนนาง มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากมองโกเลีย และราชวงศ์หยวนของจีน และเป็นรุปแบบชุดฮันบกที่ใช้จนถึงปัจจุบัน

ในยุคนี้ ชุดฮันบกการเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย โดยชอกอรีหรือเสื้อคลุมกลายเป็นแบบสั้นแค่ระดับเอว และเป็นแบบผูก แขนเสื้อมีความกว้างมากขึ้นและยาวมาจนคลุมมือ ส่วนกระโปรงสำหรับผู้หญิงจะเป็นแบบจีบรอบตัว


ชุดฮันบกแบบสมัยโครยอได้รับความนิยม เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยอาณาจักรโชชอน ยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื๊อ คือการออกแบบชุดที่แสดงถึงเคารพและแสดงถึงมารยาท กล่าวอีกนัยนึง คือต้องสวมใส่ชุดฮันบกที่มีสี ลวดลวดลาย ผ้า วัสดุ และเครื่องประดับตามชนชั้นทางสังคม


ตัวอย่างลักษณะชุดฮันบกเกาหลีแบบดังเดิมและแบบร่วมสมัย อาทิ


ชุดกนรยองโย เป็นเครื่องแต่งกายของกษัตริย์ สวมใส่เวลาออกราชการ ผ้าทำด้วยไหมสีแดง บริเวณอกและหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างปักด้วยดิ้นทองทรงกลม รูปมังกร 5 เล็บ


ชุดทังอี เครื่องแต่งกายประจำวันของเชื้อพระวงศ์หญิง บริเวณหน้าอก หลัง และหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างจะมีลายปักด้วยดิ้นทองรูปทรงกลม


ชุดควอนบก ชุดข้าราชการระดับสูง มีสัญลักษณ์เป็นลายปักรูปนกกระเรียนทรงสี่เหลี่ยมบริเวณหน้าอก จะสวมใส่เวลาออกปฏิบัติราชกาลในสำนักพระราชวัง


ชุดชูมุนจัง ชุดหัวหน้ายามรักษาประตูเมืองหลวงและพระราชวัง ในสมัยราชวงศ์โชชอน มีเอกลักษณ์คือหมวก เรียกว่า จอนริบ


ชุดฮันบกร่วมสมัย มีหลากหลายรูปแบบ เช่น เสื้อคลุมตัวนอกและกระโปรง ปักลวดลายสวยงามและสีสันสดใส แขนเสื้อมีแทบผ้าหลากสี เรียกว่า แซกทงจอโกรี หรือเสื้อกั๊กของผู้ชายเรียกว่า แกจา.

เลนซ์ซูม

ขอขอบคุณ :

ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย ( KCC )

สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย