เมื่อวันที่ 21 ก.ค. สมาคมสายการบินประเทศไทย นำโดยนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการ 7 สายการบิน ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, ไทยสมายล์แอร์เวย์, ไทย ไลอ้อน แอร์, ไทยเวียตเจ็ท, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยแอร์เอเชีย และนกแอร์ ร่วมแถลงข่าวออนไลน์รูปแบบ virtual conference เพื่อติดตามความคืบหน้าการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) หลังจากก่อนหน้านี้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อสายการบิน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับอนุมัติ และขณะนี้ยังถูกให้งดทำการบินชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.64 ด้วย

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในฐานะนายกสมาคมฯ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ขอรับการสนับสนุนซอฟต์โลนตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรกเดือน มี.ค.63 โดยได้ติดตามต่อเนื่อง และเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 28 ส.ค.63 เพื่อให้เร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าว จากนั้นเดือน พ.ค.64 ส่งหนังสือติดตามอีกครั้ง จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา รวมเป็นเวลากว่า 478 วันแล้ว

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การขนส่งทางอากาศได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าวิกฤติใดๆ ในรอบ 10 ปี โดยปี 63 ผู้โดยสาร 7 สายการบินลดลง 64.7% เมื่อเทียบกับปี 62 ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ลดลง 81.7% ภายในประเทศ ลดลง 44.9% เที่ยวบินในประเทศ ลดลง 33.8%  ซึ่งเป็นผลมาจากการจำกัดการเดินทาง ล่าสุดได้สั่งให้หยุดทำการบินตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.64 อีก เท่ากับว่ารายได้ของสายการบินเป็นศูนย์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ที่ผ่านมาทุกสายการบินขาดทุนต่อเนื่อง และขณะนี้เริ่มแบกภาระต้นทุนไม่ไหวแล้ว จึงอาจจะส่งผลต่อการกลับมาทำการบิน และการจ้างพนักงาน

นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า ขอให้รัฐบาลพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอย่างเร่งด่วน รวมถึงมาตรการความช่วยเหลือ อาทิ การพักชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบ และต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายให้กับธุรกิจสายการบิน ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่นอกจากจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูธุรกิจรายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยทั้ง การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านค้า และชาวบ้าน

ด้านนายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ปรับลดตัวเลขวงเงินการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวม 7 สายการบิน จาก 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยื่นขออนุมัติครั้งแรกเมื่อ มี.ค.63 เหลือ 1.5 หมื่นล้านในการยื่นขออนุมัติเมื่อต้นปี 64 แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ จนล่าสุดปรับลดเหลือเพียง 5 พันล้านบาท เพื่อใช้รักษาการจ้างงานพนักงานทั้ง 7 สายการบิน กว่า 2 หมื่นคน ในครึ่งปีหลังของ 64 เท่านั้น ทั้งนี้สำหรับเงื่อนไขการขอรับเงินกู้ฯ ยอมรับว่าสายการบินไม่มีสินทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ จึงอยากให้รัฐบาลผ่อนผันให้นำตารางบิน (สล็อต) สิทธิการบิน และใบอนุญาตประกอบการกิจการค้าขายในการเดินอากาศใหม่ (เอโอแอล) ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ได้รับจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มาเป็นหลักค้ำประกัน เพื่อให้สามารถกู้เงินได้

ขณะที่นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สายการบินได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มา 17 เดือน หรือเกือบ 1 ปีครึ่งแล้ว และจากคำสั่งงดบินเข้าออกพื้นที่สีเเดงเข้ม ตั้งเเต่วันที่ 21 ก.ค.64 ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ทำให้เครื่องบินของ 7 สายการบิน กว่า 170 ลำต้องจอดนิ่ง แต่ยังมีค่าจ้างพนักงานกว่า 2 หมื่นคน รวมกว่า 900 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่รายได้เป็นศูนย์ จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือ มิฉะนั้นธุรกิจการบินอาจจะไปต่อไม่ได้

ด้านนางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสายการบินไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาหนทางที่จะมาช่วยให้สามารถจ้างพนักงานได้ต่อ ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ช่วยเรื่องการรักษาการจ้างแรงงาน อย่างไรก็ตามถ้าสุดท้ายแล้วหากสายการบินไม่ไหวจริงๆ และไม่สามารถจ้างพนักงานไว้ได้แล้ว จะต้องขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง.