ปุจฉา : เราได้อะไรจากพรชัยวันมาฆบูชา  

วิสัชนา : คำว่า “โอวาทปาติโมกข์” เป็นคำที่คุ้นหู แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจสารัตถะสำคัญว่า มิใช่เพียงทำบุญ เวียนเทียน ไหว้พระ 

วิสัชนาที่ 1 สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาว่า “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา,  นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทธา” แปลความว่า “ความอดทน คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่า ยอดเยี่ยม”  

สมเด็จพระชินสีห์ต้องการชี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนายึดพระนิพพาน เป็นอุดมการณ์สูงสุด ซึ่งต่างจากศาสนาสำคัญในสมัยนั้น ที่ยึดการเข้าถึงพระพรหม เป็นเป้าหมายสูงสุด ชาวพุทธจะบรรลุถึงพระนิพพาน ก็ต้องอาศัยความเพียรพยาม ด้วยความอดทนเป็นอย่างยิ่ง เพราะพุทธศาสนิกชนนั้น จักไม่มีเทพอุ้มสมหรือพระพรหมจะบันดาลที่จะพาไปสู่พระนิพพานได้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา” แปลความว่า “ท่านทั้งหลาย ต้องทำความเพียรพยายามเองพระตถาคตเจ้าเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางสมดังคำประพันธ์ที่ว่า ชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้สุขเกษมศานต์ ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย  

วิสัชนาที่ 2 สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ทรงแสดงหลักการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรของมนุษย์ เพื่อบรรลุถึงพระนิพพานไว้ในโอวาทปาติโมกข์ส่วนที่ 2 ดังคำพระที่ว่า “การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำดีให้ถึงพร้อม การทำจิตใจของตนให้ผ่องใส นั่นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” หลักการปฏิบัติในโอวาทปาติโมกข์ ส่วนที่ 2 นี้ แบ่งเหมือนบันไดบุญ 3 ขั้น ที่ส่งต่อกันไปตามลำดับจนถึงเป้าหมายสูงสุด คือ “พระนิพพาน” คือ “การไม่ทำบาปทั้งปวง” หมายถึง การรักษาศีล ด้วยการงดเว้นจากการทำบาป ทางกายและทางวาจา เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่พูดเท็จ เป็นต้น 

“การทำดีให้ถึงพร้อม” หมายถึง “สมาธิ” และ “การทำประโยชน์ตน” คือ “อัตตหิตสมบัติ” และ “ทำประโยชน์ผู้อื่น” คือ “ปรหิตปฏิบัติ” ให้บริบูรณ์ ส่วน “การทำจิตใจให้ผ่องใส” หมายถึง “ปัญญา” ที่เกิดจากการเจริญพระกรรมฐาน เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง 

ในที่นี้ขอวิสัชนา ว่า การทำจิตใจให้ผ่องใส จะช่วยให้จิตใจหนักแน่นมั่นคง แม้ในสถานการณ์ที่สับสน เพราะต้องกระทบกับโลกธรรม 8 ประการ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์  ดังหลัก “อุบาสกธรรมธรรม” ที่ว่า อุบาสกและอุบาสิกาที่ดี ควรมีคุณสมบัติ อย่างเต็มเปี่ยมดีเยี่ยม มี 5 ประการ คือ 

1. มีศรัทธา มีความเชื่อตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา 

2. มีศีล คือการปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงามตามหลักพระพุทธศาสนา  

3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว  

4. ไม่แสวงหาทักขิเณยยภายนอก หลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา  

5. สนับสนุนในพระพุทธศาสนา คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา  

วิสัชนาที่ 3 พระพุทธเจ้าทรงประกาศ นโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ว่า ต้องไม่ใช้วิธีการรุนแรงในการดึงคนเข้าหาศาสนา ไม่มีการบังคับให้คนนับถือพระพุทธศาสนา ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นพระพุทธองค์ทรงแนะนำว่า อนูปวาโท ไม่ว่าร้ายใคร, อนูปฆาโต ไม่ทำร้ายใคร เป็นต้น 

ขอวิสัชนาเพิ่มเติมในข้อนี้ว่า เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงวางนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างสันติเช่นนี้ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา บ่งชี้ให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีสงคราม เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ราชอาณาจักรไทยเป็นพื้นดินอาณาเขตแห่งความสามัคคี และร่วมกันดำเนินชีวิตอย่างสันติ 

เนื่องในดิถีวันมาฆบูชาประจำปีนี้ ถ้าพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันปฏิบัติบูชาถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยการน้อมนำคำสอนใน โอวาทปาติโมกข์ โดยเฉพาะเรื่อง ขันติธรรม และ การไม่ว่าร้าย (อนุปวาโท) การไม่ทำร้าย (อนูปฆาโต) มาเป็นหลักปฏิบัติในการดำรงชีวิตประจำวัน สังคมไทยก็จะเป็นสังคมแห่งสันติและจักมีความปกติสุขแห่งสังคมไทย 

การไม่ว่าร้ายกัน การไม่ทำร้ายใคร จึงเป็นพรชัยของชีวิตพี่น้องชาวไทย 

…………………………………………

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี