เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายเรื่องการขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการแก้ปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา และจะต้องมีการติดตามเด็กกลุ่มให้เห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากตัวเลขเด็กหลุดออกนอกระบบในแต่ละปีมีจำนวนสูงถึงหลักแสนคน ดังนั้น สกศ. ตนมองว่าเรื่องนี้จำเป็นมองปัญหาในเชิงลึก โดยการเจาะในรายละเอียดของเด็กตกหล่น ว่า กลุ่มเหล่านี้เป็นใคร อย่างไรบ้าง ซึ่งพบว่า เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามีหลายประเภท เช่น เด็กยากจน ที่สนใจเรื่องการทำมาหากินเลี้ยงปากท้องมากกว่าการเรียนหนังสือ เด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน เด็กที่ถูกบูลลี่หรือถูกรังแก เด็กชายขอบ เด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น โดย สกศ. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องนี้แบบคู่ขนานด้วยการจัดทำแพลตฟอร์มในโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนขยายโอกาสเป็นศูนย์เชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนำเด็กทุกคนกลับเข้ามาสู่ในห้องเรียนอย่าง 100% ในยุคสมัยนี้อาจจะมีการปรับให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ผ่านการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงจะมีอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอนให้เด็กสามารถหยิบยืมได้เพื่อเกิดกระบวนการเรียน

“อีกทั้งรูปแบบการเรียนการสอนจะต้องมีการปรับให้เรียนในลักษณะโมดูล คือ การนำเนื้อหารายวิชาต่าง ๆ มาแยกย่อยให้มีความเฉพาะทาง ซึ่งหากเราสามารถดำเนินการในรูปแบบนี้ได้ ผมเชื่อว่าจะทำให้เด็กกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น หรือจะใช้กลุ่มโรงเรียนนวมินทราชินูทิศที่มีทั้งการจัดการเรียนการสอนในสายสามัญและสายอาชีพ รวมถึงจะอยู่ในทุกภูมิภาค หากผู้ปกครองมีการย้ายถิ่นฐาน เราก็จะสามารถติดตามเด็กกลุ่มนี้ไปได้ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ ผมจะเสนอให้นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณาต่อไป” เลขาฯ สกศ. กล่าว