คำสั่งทำให้เกิดการประท้วงต่อเนื่อง และสถานการณ์ร้อนแรงขึ้นทั่วประเทศในสัปดาห์นี้ เมื่อมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอทางสื่อสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นนักศึกษาสาวมุสลิมรายหนึ่ง ถูกนักศึกษาชายชาวฮินดูกลุ่มใหญ่ รุมคุกคาม ขณะจะเข้าห้องเรียนในวิทยาลัย เหตุการณ์ทำให้ฝ่ายการศึกษาของรัฐกรณาฏกะ สั่งปิดโรงเรียนและวิทยาลัยหลายแห่งในพื้นที่ เป็นเวลา 3 วัน เพื่อควบควบคุมสถานการณ์

คำสั่งห้ามฮิญาบ ซึ่งพรรครัฐบาลอินเดีย ภาราติยะ ชนตะ (บีเจพี) ระบุว่าเป็น วิธีง่าย ๆ (simple way) ในการกันสัญลักษณ์ทางศาสนา ออกจากห้องเรียน ถูกโจมตีจากหลายฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า เป็นอีกแนวทางของบีเจพี พรรคการเมืองชาตินิยมของชาวฮินดู ในการด้อยค่าและลดระดับชาวมุสลิม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ

ล่าสุด องค์กรตัวแทนชาวมุสลิมในอินเดีย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงรัฐกรณาฏกะแล้ว เพื่อให้พิจารณา และมีคำสั่งเพิกถอน คำสั่งของฝ่ายปกครองของรัฐ

นับเป็นความขัดแย้งล่าสุด เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของชาวมุสลิม ในประเทศที่กระแสชาตินิยมของชาวฮินดูกำลังร้อนแรง แม้ว่าอินเดียจะมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม มากกว่า 210 ล้านคน แต่ก็เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ เนื่องจากมีสัดส่วนเพียงแค่ประมาณ 14.2% ของประชากรทั้งประเทศกว่า 1,402 ล้านคน (ฮินดู 79.8% และพุทธ 0.7%)

ชาวมุสลิมในอินเดียถูกกดขี่หนักขึ้น ในระยะหลายปีล่าสุด รวมถึงในปี 2562 ที่รัฐบาลออกกฎหมายสัญชาติ มีเนื้อหาเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม และกฎหมายที่ขัดขวางการแต่งงาน ระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม

การทะเลาะวิวาทส่วนตัว บานปลายกลายเป็นจลาจลปะทะเดือด ในกรุงนิวเดลี เมื่อเดือน มี.ค. 2563 มีผู้เสียชีวิต 56 ราย เป็นชาวมุสลิม 40 ราย อีก 16 รายที่เหลือเป็นชาวฮินดู

Al Jazeera English

ปากีสถานประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ได้ยื่นหนังสือประท้วงทางการทูต คำสั่งห้ามฮิญาบของรัฐกรณาฏกะ และเชิญกงสุลใหญ่อินเดียประจำกรุงอิสลามาบัดเข้าพบ เพื่อรับทราบ “ความวิตกอย่างยิ่ง” ขณะที่นายชาห์ มาห์มูด กูเรชี รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน กล่าวว่า คำสั่งห้ามฮิญาบดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของรัฐบาลอินเดีย ในการทำให้ชาวมุสลิมในประเทศ เป็นชาวสลัมคนชั้นต่ำของสังคม

เหตุการณ์ที่รัฐกรณาฏกะ คาดว่าจะช่วยเสริมคะแนนนิยมให้พรรคบีเจพี ในรัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ และกำลังมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 10 ก.พ.-10 มี.ค. การเลือกตั้งรัฐนี้ถูกมองว่าเป็นการทดสอบครั้งใหญ่ สำหรับการครองอำนาจเป็นรัฐบาลของบีเจพี

ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง ก่อนถึงวันลงคะแนน นายโยคี อาทิตยานาถ มุขมนตรีรัฐอุตตรประเทศ และหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของบีเจพี ประกาศว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการต่อสู้กัน ระหว่างกลุ่มคน 80% กับ 20% ของประเทศ ส่วนนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี กล่าวในระหว่างขึ้นเวทีหาเสียงช่วยลูกพรรคว่า พรรคบีเจพียืนอยู่ข้าง ผู้หญิงมุสลิมที่ตกเป็นเหยื่อการเลือกปฏิบัติ

นักวิเคราะห์มองว่า ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มคนต่างศาสนาในอินเดีย ในปัจจุบัน วิธีเดียวที่จะทำให้จุดยืนต่อต้านชาวมุสลิม ของพรรคบีเจพี อ่อนลงได้คือ แพ้เลือกตั้ง ทั้งระดับรัฐและระดับชาติ แต่ผลโพลสำรวจในระยะหลังบ่งชี้ว่า บีเจพีแทบไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องนี้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS