วันมาฆบูชา

เช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ตุลาการ คหบดี พ่อค้า และพุทธศาสนิกชน ร่วมทำบุญตักบาตร เนื่องในวันมาฆบูชา ประจำปี 2565 ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

โดยพุทธศาสนิกชนต่างพาบุตรหลานเข้าวัดทำบุญ ปฏิบัติธรรม เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว สำหรับในช่วงเย็น จะมีการร่วมกันเวียนเทียน ปฏิบัติธรรม สวดมนต์เจริญจิตภาวนา โดยพระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 และได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า วันมาฆบูชา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต หมายถึง การประชุมด้วยองค์ 4 ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ นิยมออกมาทำบุญตักบาตร ฟังธรรม เวียนเทียน เพื่อทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ละเว้นจากการทำบาป เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว โดยในปีนี้ เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จึงขอเชิญชวนเวียนเทียนออนไลน์ หรือเวียนเทียนวัดใกล้บ้าน (เผอิญ-วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

พัฒนาชุมชนบางบาล

เมื่อเวลา 09.30 น. ของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชนระดับจังหวัด และพิธีเปิด “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน อำเภอบางบาล” เฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 71 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 โดยมี นายประจัญ จันทร์เนตร พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสมยศ เกษสุวรรณ นายอำเภอบางบาล นางรัตนา หวังเทพอนุเคราะห์ สมาชิกสภาจังหวัดฯ จิตอาสาพระราชทาน ประชาชน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนาบุญ 108 หมู่ 9 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย ดร.บุญสมหญิง พลเมืองดี ประธานศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน อำเภอบางบาล เป็นผู้กล่าวรายงาน

นายไพรัตน์ เพชรยวน กล่าวว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ขับเคลื่อนงานศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายจิตอาสาพัฒนาชุมชน ระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคีการพัฒนาในพื้นที่ ทั้ง 7 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ศาสนา สถาบันการศึกษา เอกชน ประชาสังคม ประชาชน และประสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายต่อยอดการจัดตั้งศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน เป็นศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชนระดับอำเภอ และขยายผลต่อไปให้ครบทุกตำบล เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 71 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 และได้คัดเลือก ศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนาบุญ 108 หมู่ 9 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความพร้อม และมีศักยภาพตามเกณฑ์การประเมินที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด จัดตั้งเป็นศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งดำเนินการประชุมสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2565 (วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ตามรอยพระนางจามเทวี

นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ตามรอยพระนางจามเทวี จากลวปุระ สู่หริภุญชัย” ณ ห้องประชุมพระนารายณ์ อาคารรัตนเทพสตรี ชั้น 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี อำเภอเมืองลพบุรี หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมวัดเขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี โดยมี ผศ.จินตนา เวชมี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี พร้อมด้วย ผศ.ธนิดา ภู่แดง ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี คณาจารย์ ส่วนราชการ และภาคประชาชน ผู้เข้าร่วมสัมมนา

ซึ่งจัดโดย สภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี สำหรับการเสวนาทางวิชาการครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย โดยเฉพาะการชำระสะสางปัญหาเรื่องเส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีโดยชลมารค ตั้งแต่เมืองลพบุรีถึงลำพูน และเพื่อสร้างความสำคัญและความตระหนักรู้ให้กับผู้เข้าร่วมการเสวนาได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ อาจารย์พิเศษ สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์พิเศษภาควิชาการออกแบบศิลปะ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยาย (กฤษณพงศ์ อยู่รอด-ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

ตรวจเยี่ยมห้องสมุด

นางสรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นางสาวพรรณทิพย์ เปี่ยมพุทธากุล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติฯ โรงเรียนนครหลวง (พิบูลย์ประเสริฐวิทย์) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโครงการจัดทำห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2558 พระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง (ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2558) เพื่อติดตามการใช้งานห้องสมุดให้มีสภาพที่ดีและเป็นห้องสมุดที่มีชีวิตตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และตรวจเยี่ยมการเรียนการสอนของโรงเรียนในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมี นายไพรัช โตโสภณ ผู้อำนวยการโรงเรียนนครหลวง (พิบูลประเสริฐวิทย์) ให้การต้อนรับและรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวม (เผอิญ-วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ออกสลากกาชาด

ตามที่จังหวัดสระบุรี ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดสระบุรี จัดให้มีการจำหน่าย “สลากกาชาดกรกุศล” ประจำปี 2564 เพื่อนำเงินรายได้บำรุงกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของเหล่ากาชาดจังหวัดสระบุรี นั้น

ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ณ.ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองสระบุรี คณะกรรมการฝ่ายออกรางวัลสลากกาชาดการกุศล จังหวัดสระบุรี กำหนดให้ดำเนินการออกรางวัล โดยวิธีหมุนวงล้อต่อหน้า ประธานคณะกรรมการ/กรรมการ และ สักขีพยาน ประกอบไปด้วย นายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี, นายเอกพร จุ้ยสำราญ รอง ผวจ.สระบุรี นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสระบุรี คลังจังหวัดฯ นายพลวรรธน์ เทียนชัยมงคล ปลัดจังหวัดสระบุรี ประชาสัมพันธ์จังหวัดฯ นายอำเภอฯ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดสระบุรี แขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน และมีนักเรียนพยาบาลจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสระบุรีทำหน้าที่หมุนวงล้อ (ออกรางวัลฯ) ซึ่งมีผู้แทนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ควบคุมแนะนำทุกขั้นตอน ผลการออกรางวัลสลากกาชาดการกุศลจังหวัดสระบุรี ประจำปี 2564

รางวัลที่ 1 จำนวน 3 รางวัล (รถยนต์เก๋ง) ได้แก่ หมายเลข 53520 07876 39168 รางวัลที่ 2 จำนวน 6 รางวัล (รถจักรยานยนต์) ได้แก่ หมายเลข 50721 30319 31675 10766 07199 20674 รางวัลที่ 3 จำนวน 5 รางวัล (สร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท) ได้แก่ หมายเลข 54618 11513 36600 06424 41577

รางวัลที่ 4 จำนวน 10 รางวัล (โทรทัศน์สี LED ขนาด 32 นิ้ว) ได้แก่ หมายเลข 08359 46303 28057 46519 22657 25430 38994 04608 08335 36262 รางวัลที่ 5 จำนวน 10 รางวัล (ตู้เย็นขนาด 5.2 คิว) ได้แก่ หมายเลข 46086 54145 34867 38988 34992 34283 22115 39130 04824 02137 รางวัลเลขท้าย 3 ตัว หมุน 3 ครั้ง จำนวน 180 รางวัล (เครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่า 500 บาท) ได้แก่ หมายเลข 038 109 513

รางวัลเลขท้าย 2 ตัว หมุน 1 ครั้ง จำนวน 600 รางวัล (เครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่า 300 บาท) ได้แก่ หมายเลข 91

หมายเหตุ..เพื่อความถูกต้องโปรดนำสลากกาชาดการกุศลประจำปี 2564 ไปตรวจได้ที่ ศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสระบุรี, ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง และที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล อบต. เพื่อติดต่อขอรับรางวัลได้ที่ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 0-3621-1911 (วิรัตน์ เดชะวราฤทธิ์ / สระบุรี)

ฉีด Pfizer เด็กอายุ 5-11 ขวบ

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดฉีดวัคซีน Pfizer ในระยะแรก สำหรับเด็กอายุ 5-11 ขวบ ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ให้กับนักเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 8 และ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เริ่มต้นที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาและโรงพยาบาลอำเภอเสนา เป็นสองจุดแรก

สำหรับวันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ได้เริ่ม kick off ฉีดวัคซีน Pfizer เป็นระยะที่ 2 พร้อมกันทั้ง 16 อำเภอ ซึ่งทางโรงเรียนได้สำรวจความต้องการในการเข้ารับวัคซีนพร้อมออกใบยินยอมรับวัคซีนให้กับนักเรียน เพื่อนำมาแสดงก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยบรรยากาศการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ มีผู้ปกครองพาบุตรหลาน รวมถึงคุณครูโรงเรียนต่างๆ ได้นำนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 5-11 ขวบ เข้ารอรับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก โดยกระทรวงสาธารณสุข แนะนำการฉีดวัคซีน Pfizer (ฝาสีส้ม) สูตรสำหรับเด็กอายุ 5-11 ขวบ คือ ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งเด็กๆ ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน ควรเตรียมร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชม. ก่อนมารับวัคซีน และยังสามารถฉีดพร้อมวัคซีนตัวอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องเว้นระยะ และหลังจากฉีดวัคซีน ควรเว้นการออกกำลังกายเป็นเวลา 7 วัน (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

เร่งฉีดวัคซีน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 14.30 น. ที่ ห้องประชุมอโยธยา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 5/2565 โดยมี พ.อ.ภัทราวุธ ทิพโกมุท รอง ผอ.รมน.จว. นายยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของประเทศไทยและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระลอกเดือนมกราคม 2565 ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 119 ราย หายป่วยวันนี้ 16 ราย รักษาอยู่ 1,187 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย

โดยที่ประชุมได้รับทราบประกาศจังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่องมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากในพื้นที่ ต้องผ่าน ศปก.ศบค.อำเภอ พิจารณาตามมาตรการที่กำหนด สำหรับข้อมูลเตียงที่ใช้รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ปัจจุบันมีจำนวน 3,478 เตียง ใช้ไปแล้ว 1,187 เตียง คงเหลือ 2,291 เตียง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” นอกจากนี้ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ หอประชุมอำเภอบางปะอิน (หลังเก่า) ตำบลบ้านหว้า อำเภอบางปะอิน หลังจากปิดทำการไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 พร้อมเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากาก ฉีดวัคซีน เว้นระยะห่าง หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้นอีกด้วย (เผอิญ-วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ตราตั้ง เจ้าคณะอำเภอหมวกเหล็ก

ตามที่ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้มอบหมายให้นายรณรงค์ เทพรักษ์ นายอำเภอมวกเหล็ก ร่วมกับ นางสาวพัชรา สุคันธี ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดสระบุรี ได้ร่วมกันจัดให้มีพิธีต้อนรับตราตั้ง พัดยศประจำตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอมวกเหล็ก “พระครูสิทธิธรรมานุโยค” (วันชัย) ฉายา อคฺคเตโช อายุ 71 พรรษา 30 วิทยฐานะ น.ธ. เอก วัดมวกเหล็กนอก ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ตามที่ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ได้พิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งให้ พระครูสิทธิธรรมานุโยค ปัจจุบันมีตำแหน่งในทางปกครองคณะสงฆ์เป็นเจ้าอาวาสวัดมวกเหล็กนอก ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอมวกเหล็ก มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตอำเภอของตน ตามกฎมหาเถรสมาคมแต่งตั้ง นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)

ศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา

อาจารย์สัญญา คำจริง รองอธิการบดี พร้อมด้วย บุคลากรกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ร่วมพิธีเปิดงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 10 “ข่วงวัฒนธรรมล้ำค่า สืบสานมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดิน” โดยภายในงานมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์แสดงต่าง ๆ และส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักถึงศิลปะการแสดงและภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดต่อกันมาช้านาน ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จังหวัดลำปาง (เผอิญ-วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

เปิดศูนย์ช่วยเหลือ

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล ณ ห้องประชุมนายทองแสงใหญ่ ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี โดยนางรัชนี วชิรภูชัย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสิงห์บุรี ร่วมกับทีม One Home จังหวัดสิงห์บุรี ได้แก่ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสิงห์บุรี และบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสิงห์บุรี ดำเนินการจัดทำ APPLICATION/LINE OFFICAL ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล เพื่อบริการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึงรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ แบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ One Home จังหวัดสิงห์บุรี กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็น Admin เพื่อบริการพร้อมอำนวยความสะดวกในการขอรับความช่วยเหลือ และได้ดำเนินการประชุมทีม One Home จังหวัดสิงห์บุรี และจัดทำคู่มือศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลฉบับย่อ จัดทำ APPLICATION/LINE OFFICAL ศูนย์ช่วยเหลือสังคมระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลทุกตำบล แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลประจำจังหวัด จัดอบรมเสริมทักษะบุคลากรให้กับทีม One Home จังหวัดสิงห์บุรี ในการใช้APPLICATION/LINE OFFICAL ผ่านการใช้สมาร์ทโฟน จัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมอบป้ายศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลจำนวน 41 แห่ง จัดอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการใช้ APPLICATION/LINE OFFICAL ผ่านการใช้สมาร์ทโฟน พร้อมมอบป้ายศูนย์ช่วยเหลือสังคมระดับตำบล

ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสิงห์บุรี จึงจัดพิธีเปิดป้ายศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 โดยพร้อมเพรียงกันจำนวน 41 แห่งผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อเป็นแนวทางที่มุ่งพัฒนาคนทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกช่วงวัย โดยการเชื่อมโยงทรัพยากรภายในและภายนอกชุมชน รวมถึงการบูรณาการการช่วยเหลือรูปแบบที่หลากหลายเข้าด้วยกันในลักษณะ (One Stop Service)เพื่อลดความซ้ำซ้อน และมีความทันสมัยสะดวกรวดเร็ว ประชาชนเข้าถึงง่าย เพื่อให้การขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลทุกแห่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนานำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและการบริการคนทุกช่วงวัยในระดับตำบลให้สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน สร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อน และสามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์เพื่อเชื่อมประสานกับส่วนราชการอื่นๆทั้งด้านรายได้ความเป็นอยู่ การศึกษา สุขภาพและการเข้าถึงบริการภาครัฐโดยมีหน่วยงานเชื่อมประสานบูรณาการเชื่อมร้อยการทำงานร่วมกัน เช่น สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีม พม.จังหวัด (One Home) เป็นต้น (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)

ทานตะวันบาน

นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยนายกเหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี ร่วมกันเป็นประธาน เปิดเทศกาลท่องเที่ยวทุ่งทานตะวันบาน ในวันแห่งความรัก บนพื้นที่รวมกว่า 50 ไร่ ของตำบลกกโก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ซึ่งสำนักงานเทศบาลตำบลกกโก ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 ก.พ. บานต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2565 เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ในช่วงเทศกาลวันแห่งความรักส่งเสริมการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรทุ่งทานตะวันบาน ของตำบลกกโก ประจำปี 2565 ตลอดจน เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงาน ชุมชน และองค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่ในชุมชนของตนเอง ในรูปแบบใหม่ New Normal ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดลพบุรี

สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีรถรางโบราณ คอยให้บริการ รับ-ส่ง นักท่องเที่ยว พาชมทุ่งทานตะวันแปลงใหญ่ในพื้นที่ของตำบลกกโก พร้อมทั้งเปิดพื้นลานกิจกรรม จำหน่ายสิ้นค้าของฝาก ผลิตภัณฑ์ชุมชน ของกลุ่มวิสากิจชุมชนต่างๆ วางจำหน่ายภายในงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ จากการจำหน่ายสินค้าของตนเองให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย (กฤษณพงศ์ อยู่รอด-ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)