เมื่อวันที่ 10 ก.พ. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนได้ร่วมประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Zoom Application ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบการเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเตรียมการของที่ระลึก และการใช้ตราสัญลักษณ์ “ชะลอม” เป็นตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย โดยนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงความสำคัญในประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพ และมอบหมายทุกหน่วยงานให้ดำเนินการอย่างบูรณาการ
 
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษา ได้มีการกำหนดหัวข้อหลักและประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันในการเป็นเจ้าภาพด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. Smart Citizens เป็นการพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และมีจิตสาธารณะ 2. Digital Literacy เน้นเรื่องการพัฒนาคนให้มีความฉลาดรู้ในเรื่องของดิจิทัล และ 3. Green and Eco-Friendly Awareness มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักและมีสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ในการเป็นเจ้าภาพประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRDWG) ครั้งที่ 47 ของ เอเปค ที่จะมีขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งอยู่ในช่วงการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซม ครั้งที่ 2 (SOM2) รวมถึงการจัดทำ Voice of Youth ที่เน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายเอเปคเพื่อการมีงานทำในโลกที่ผันผวน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะที่จำเป็นให้แก่ผู้เรียนและบุคลากร ให้มีสมรรถนะพร้อมเป็นแรงงานในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ทั้งนี้ ความร่วมมือในกรอบเอเปค (APEC) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และ ไทย โดยเป็นการดำเนินความร่วมมือที่มุ่งเน้นการผสานความร่วมมือเพื่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค.