ในบรรดาผู้สมัครแข่งขัน ชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศคนใหม่ 10 คน ที่ถูกจับตามองมากที่สุด และจนถึงวันเริ่มหาเสียง มีคะแนนนิยมจากโพลสำรวจ นำห่างคู่แข่งรายอื่น ๆ ถึง 20 จุด คือ นายเฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์ วัย 64 ปี ลูกชายของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำเผด็จการ ที่ถูก “พลังประชาชน” โค่นล้มจากอำนาจ เมื่อ 36 ปีก่อน

การลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมาก ของมาร์กอส จูเนียร์ นักวิเคราะห์การเมืองจำนวนมากเห็นตรงกันว่า เป็นผลจากความพยายามประชาสัมพันธ์ อย่างยาวนานต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองของประชาชน ที่มีต่อตระกูลมาร์กอส ท่ามกลางข้อกล่าวหาบิดเบือนประวัติศาสตร์ของประเทศ

ริชาร์ด เฮย์ดาเรียน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการเมืองฟิลิปปินส์ กล่าวว่า มาร์กอส จูเนียร์ และคนอื่น ๆ ในครอบครัว พยายามแสวงหาอำนาจทางการเมือง เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของตระกูล และระบอบทุจริต มาร์กอส

Al Jazeera English

หลังถูกโค่นล้มจากอำนาจ เมื่อเดือน ก.พ. 2529 เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส หอบครอบครัวหลบหนี ไปลี้ภัยซุกปีกรัฐบาลสหรัฐ อยู่ที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย และมาร์กอส ซีเนียร์ เสียชีวิตที่นั่น เมื่อเดือน ก.ย. 2532 ด้วยวัย 72 ปี หลังจากนั้นไม่นาน อีเมลดา มาร์กอส ภริยา และลูก ๆ เดินทางกลับฟิลิปปินส์ ปักหลักที่บ้านเกิดมาร์กอส ในจังหวัดอีโลโคสนอร์เต ทางภาคเหนือ และเริ่มเล่นการเมืองท้องถิ่น เพื่อปูทางสู่ระดับชาติ

มาร์กอส จูเนียร์ ชนะเลือกตั้ง ได้เป็นผู้ว่าการจังหวัด รวมทั้ง ส.ส.จังหวัดอีโลโคสนอร์เต ก่อนจะขยับขึ้นเป็น ส.ว.ในปี 2553

ส่วนไอมี มาร์กอส พี่สาววัย 66 ปี ชนะเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัด รวมทั้ง ส.ส. และ ส.ว.เช่นเดียวกับน้องชาย ขณะที่นางอีเมลดา ลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2535 ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.จังหวัดอีโลโคสนอร์เต 4 สมัย

ตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปี ที่อดีตประธานาธิบดีมาร์กอสครองอำนาจ ระหว่างเดือน ธ.ค. 2508–ก.พ. 2529 รัฐบาลฟิลิปปินส์ถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตโกงกินมโหฬาร โดยจากการประเมินของทางการพบว่า เฉพาะมาร์กอสและคนในครอบครัว ทรัพย์สินเงินทองที่ได้ไปจากการ “ปล้นชาติ” รวมแล้วมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และระบอบมาร์กอสยังถูกระบุว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จากข้อมูลของ “แอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล” ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองถูกฆ่า 3,240 ราย ถูกจำคุก 70,000 คน และทารุณกรรม 34,000 คน

ชาวฟิลิปปินส์ที่ตกเป็นเหยื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน ในรูปแบบต่าง ๆ ของระบอบมาร์กอส ได้รับเงินชดเชยเยียวยา กว่า 11,000 คน โดยรัฐบาลมะนิลาใช้เงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบัญชีเงินฝากธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ ของครอบครัวมาร์กอส ที่ตามยึดคืนมาได้

หนึ่งในผู้รับเงินเยียวยา คือ ลอเรตตา แอนน์ โรเซลส์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดัง และอดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยถูกคุมขัง ทำร้ายร่างกาย และข่มขืนในห้องขัง ในช่วงที่มาร์กอสครองอำนาจ

โรเซลส์เป็นหนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหวกว่า 10 กลุ่ม ที่รณรงค์ต่อต้านการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของมาร์กอส จูเนียร์ ด้วยการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาตัดสิทธิ ด้วยสาเหตุขาดคุณสมบัติหลายประการ รวมถึงคำพิพากษาศาลคดีมาร์กอสน้อยเลี่ยงภาษี

องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง Vera Files เผยแพร่รายงาน เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า มาร์กอส จูเนียร์ “เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด” จากการบิดเบือนข่าวสารออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเสริมภาพลักษณ์ของมาร์กอส จูเนียร์ และครอบครัว และทำลายความน่าเชื่อถือของคู่แข่ง ก่อนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี จะเริ่มอย่างเป็นทางการ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS