เมื่อวันที่ 20 ก.ค. น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า  คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2564 และสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย 2564 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)เสนอ  ซึ่งประกาศฉบับเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ก.ค. 2564 นี้  โดยเลขาฯสมช.ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในที่ประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานการแพร่ระบาดว่า สถานการณ์ในระดับโลก ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายภูมิภาค ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับที่ 62  อันดับหนึ่งคือสหรัฐอเมริกา อันดับสอง อินเดีย และอันดับสาม บราซิล

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยระลอกเดือนเม.ย. 2564 ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 9 ก.ค.2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวน 288,643 ราย  ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในกรุงเทพฯและปริมณฑลปรากฏจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าหลายพันคนต่อวัน และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด -19 เป็นชนิดสายพันธุ์ใหม่(เดลต้า) สามารถแพร่ระบาดและติดต่อกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังพบสายพันธุ์เบต้า ที่มีความรุนแรงมาก อาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในจังหวัดที่มีสถานประกอบการ โรงงาน ตลาดค้าส่ง  และพบการระบาดต่อเนื่องจากผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ที่พักแรงงานก่อสร้างชั่วคราว ครอบครัว ตลาด สถานที่ทำงาน และสถานที่ชุมชนต่างๆ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มการแพร่ระบาดในระยะต่อไป กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวน 10,000 รายต่อวัน หรือมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 100,000 ราย ภายในระยะเวลา 14 วัน ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในอัตราเกิน 100 รายต่อวัน จึงมีความจำเป็นอย่างในการกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โดยเร็วทั้งนี้ศปก.ศบค. พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปยังคงเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน จึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ออกไป เพื่อระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในสุขภาพและชีวิตของประชาชน.