KBU SPORT POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ปรากฏการณ์โอลิมปิกฤดูหนาวกับมุมมองของคนไทย” สำรวจผ่านระบบออนไลน์และการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ระหว่างวันที่ 6-8 ก.พ. กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,274 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 708 คน คิดเป็นร้อยละ 55.58 เพศหญิง 566 คน คิดเป็นร้อยละ 44.42 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่าการรับทราบเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ระหว่างวันที่ 4-20 ก.พ. ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพนั้น พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 51.66 ไม่ทราบ รองลงมา ร้อยละ 48.34 ทราบ

ความสนใจที่จะติดตามการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 39.51 ยังไม่ตัดสินใจ รองลงมา ร้อยละ 33.08 สนใจ และร้อยละ 27.41 ไม่สนใจ โอกาสของนักกีฬาไทยกับการคว้าเหรียญรางวัล ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.59 ไม่มีโอกาส รองลงมาร้อยละ 20.07 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.34 มีโอกาส

ประเทศไทยกับผลที่ได้จากการเข้าร่วมการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.61 เผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศ รองลงมาร้อยละ 23.57 การแสดงศักยภาพของนักกีฬา ร้อยละ 17.38 การยอมรับจากนานาประเทศ ร้อยละ 12.36

การสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬารุ่นหลัง ร้อยละ 12.66 สร้างการตื่นตัวและความสนใจในเกมการแข่งขันและอื่น ๆ ร้อยละ 2.42 แนวทางการสร้างความสำเร็จให้กับนักกีฬาสำหรับเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในอนาคต ส่วนใหญ่ร้อยละ 28.51 กำหนดแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างเป็นระบบ รองลงมา ร้อยละ 24.05 ส่งเสริมและวางรากฐานให้กับเยาวชนในชนิดกีฬาที่มีการแข่งขัน ร้อยละ 21.86 พัฒนาบุคลากรและผู้ฝึกสอน ร้อยละ 13.44 จัดสถานที่สำหรับฝึกซ้อมและการแข่งขัน ร้อยละ 9.11 จัดการแข่งขันและส่งนักกีฬาข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ และอื่น ๆ ร้อยละ 3.03

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่าจากผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ทราบความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่ 2022 ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าเกมการแข่งขันดังกล่าว ความน่าสนใจหรือความขลังของการแข่งขันต่างจากโอลิมปิกฤดูร้อน ที่ถือได้ว่าเป็นเกมสำคัญอันดับต้น ๆ ของโลก ประกอบกับบ้านเราสภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการเล่นกีฬาในชนิดที่มีการจัดการแข่งขัน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกของโอลิมปิกสากลจะได้มีส่วนร่วมกับการแข่งขันรายการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จากนี้ไปคงเป็นโจทย์และการบ้านที่องค์กรที่เกี่ยวข้องตลอดจนวงการกีฬาไทยต้องกลับมาพิจารณาว่าจะมีการวางแผนหรือกำหนดยุทธศาสตร์ในมิติต่าง ๆ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มเด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้สนใจในกีฬาประเภทนี้จะได้เข้ามาฝึกซ้อมและมีพัฒนาการ สามารถที่จะเป็นตัวแทนนักกีฬาไทยได้อย่างมีคุณภาพ